นายกรัฐมนตรีพบหารือกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีพบหารือกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,388 view

TH-flag  AMCHAM-Logo-color-new_1  US-flag  

 

    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการหารือกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce in Thailand: AMCHAM) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งผู้แทน AMCHAM ชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี

 

IMG_20211118115328000000-768x498

 

IMG_20211118115524000000-1024x556

 

_______________________________________________________________

   

    ข้อความของนายกรัฐมนตรีต่อการประชุมหารือกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย

    แหล่งที่มา: เพจ Facebook "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha"

 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

 

เมื่อวาน (18 พ.ย.) ผมได้ร่วมประชุมผ่านระบบ video conference กับประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (American Chamber of Commerce in Thailand : AMCHAM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักธุรกิจบริษัทสมาชิก เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โอกาสทางธุรกิจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในอนาคต ภายใต้ความท้าทายของโลก ที่มีทั้งวิกฤตโควิดและภาวะโลกร้อน ซึ่งทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ในทุกมิติ ในโอกาสนี้ ผมได้สร้างความเชื่อมั่นแก่บรรดานักธุรกิจสหรัฐฯ ว่าเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 คาดว่าเป็นไปได้ที่จะขยายตัวได้ถึง ร้อยละ 1.2 และในปี 2565 อาจจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งเรากำลังปรับตัวในหลายๆ เรื่อง อาทิ การสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นการเชื่อมโยงและสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทุกคนเข้าถึงได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม เป็นต้น โดยที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจอยู่เสมอ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลไทยก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนหลายด้าน ครอบคลุม ทั้งภาคครัวเรือน แรงงาน และผู้ประกอบการ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ-ค่าน้ำ-ค่าไฟ  ผ่านโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ม33เรารักกัน เป็นต้น สำหรับ SMEs ก็เน้นมาตรการด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs อีกด้วย

 

ในการพูดคุยกันครั้งนี้ มีผู้ประกอบการหลายร้อยบริษัทเข้าร่วม ซึ่งต่างชื่นชมแนวทาง และวิสัยทัศน์ของรัฐบาล โดยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกอีกด้วย ซึ่งผมได้นำเสนอต่อที่ประชุมในอีกหลายเรื่อง เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน นโยบายพลังงาน 4D1E ในการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าในการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles : EV) ตลอดห่วงโซ่การผลิต สิ่งสำคัญที่ผมเห็นว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่ไม่เปลี่ยนไปมาจนสร้างความสับสน โดยมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ชัดเจน เป็นเข็มทิศนำทาง (Roadmap) ให้ทุกภาคส่วนได้มีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งวันนี้ ผมถือว่าเราตั้งโจทย์ได้ถูกต้อง และเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ก้าวต่อๆ ไปก็ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนไทยทุกคน ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ตามหลักคิดที่ว่า "พรุ่งนี้...ต้องดีกว่าเมื่อวาน" นะครับ

______________________________________________________________

 

    AMCHAM ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 ปัจจุบันมีบริษัทสมาชิกมากกว่า 700 บริษัทในหลากหลายสาขา เช่น การเกษตร การเงินและประกันภัย สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ AMCHAM เป็นหน่วยงานอิสระและเป็นสมาชิกที่ได้รับการรับรองโดยหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) และสภาหอการค้าอเมริกันแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (AmChams of Asia Pacific) และเป็นสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ประธาน AMCHAM คือนาย Gregory Michael Wong ตำแหน่ง Managing Director บริษัท Agoda

 

    ผู้ที่สนใจสามารถคลิกดูรายชื่อบริษัทสมาชิกที่สำคัญของ AMCHAM ได้ที่ : https://aspa.mfa.go.th/th/content/amchammembers 

********************

 

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

พฤศจิกายน 2564