สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน : โอกาสหรือความท้าทายของไทย

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน : โอกาสหรือความท้าทายของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,446 view

      สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งเพิ่มมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยุคของ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ยังได้รับผลทางอ้อมจากการที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกตอบโต้กันไปมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำทางการค้า (Entity List) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Huawei หรือการใช้มาตรการทางภาษีกับจีน อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาสถิติการค้าระหว่างเดือน ก.ค. 2561-ก.ย. 2562 โดยสภาหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce – USCC) สะท้อนว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงส์จากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยเมื่อดูตัวเลขการค้านับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าบางประเภทของจีนภายใต้มาตรา 301 พิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว พบว่า การส่งออกสินค้าของไทย (ที่เป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษี) ไปยังสหรัฐฯ มีความได้เปรียบทางต้นทุนกว่าสินค้าจีนโดยเฉลี่ยร้อยละ 16.9 สภาพการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิด trade diversion โดยฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2562 ได้จัดลำดับสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สูงเป็นลำดับ 1 ของไทยแทนที่จีน นอกจากนี้ ไทยอาจได้ประโยชน์ในเรื่องโอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้านี้

 

iStock-1066764416-1024x575

ไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงส์จากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ สูงขึ้นภายหลังสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีต่อจีน // ที่มาของภาพ : Logistic Manager

 

      สถิติของ USCC ยังสะท้อนว่า ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์จากการตั้งกำแพงภาษีในสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในครั้งนี้ ประเทศอาเซียนอื่น ๆ ก็ได้รับประโยชน์และมีความได้เปรียบในอัตราไล่เลี่ยกับประเทศไทย อาทิ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 19.3 มาเลเซีย ร้อยละ 17.2 อินโดนีเซีย ร้อยละ 14.1 และเวียดนาม ร้อยละ 12.7 ส่วนตัวเลขเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 15.2

 

      อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบทางต้นทุนดังกล่าวอาจไม่ได้นำไปสู่การขยายตัวของสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวรวดเร็วอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมาตรการ 301 พิเศษ เริ่มมีผล และจากการที่มีการลงทุนอย่างมากในเวียดนามก่อนหน้านี้ เพื่อเตรียมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามเป็นภาคี โดยเฉพาะ Trans-Pacific Partnership (TPP) นอกจากนี้ การได้ดุลทางการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ไทยถูกจับตามมองโดยสหรัฐฯ มากขึ้นในเรื่อง Currency manipulator ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะต้องมีการเตรียมการรับมือในเรื่องนี้ต่อไป

 

********************

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

มีนาคม 2564

เอกสารประกอบ

บทวิเคราะห์ข้อได้เปรียบทางต้นทุน_ของสินค.pdf