ผลกระทบทางเศรษฐกิจของชิลีจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของชิลีจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,858 view
      ธนาคารกลางของชิลีคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของชิลีในปี 2563 โดยผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) จะหดตัวร้อยละ 2.2 (IMF คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5) ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจของชิลีเมื่อปี ค.ศ. 1982
 
 
c1_3634664
ทหารชิลีสั่งหยุดรถในจุดคัดกรองเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อกับป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ในกรุงซันติอาโก // ที่มาของรูป : https://www.bangkokpost.com/world/1919468/chile-capital-silenced-amid-lockdown-over-covid-19-surge
 
      วิกฤตโรค COVID-19 ยังจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของชิลีโดยตรง เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของชิลีที่ลดลงอย่างมากและปัญหาการปิดพรมแดน ระบบการขนส่งที่ติดขัดหรือล่าช้าห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก โดยชิลีพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของ GDP รวมทั้งได้รับผลกระทบจากราคาทองแดงตกต่ำและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมาแล้วตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตโรค COVID-19 ทั้งนี้ ธนาคารกลางของชิลีคาดการณ์ว่า ในปี 2563 การส่งออกและนำเข้าของชิลีจะลดลงร้อยละ 15 และ 25 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าส่งออกของชิลีที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เยื่อกระดาษ ปลาแซลมอน และแร่ลิเทียม นอกจากนี้ ธนาคารกลางชิลีคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2563 การลงทุนในชิลีจะหดตัวร้อยละ 8 
 
      สำนักงานรัฐมนตรีช่วยด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ (SUBREI) ได้กำหนด 5 แนวทางหลักในการลดผลกระทบของวิกฤตโรค COVID-19 ต่อการค้าระหว่างประเทศของชิลี ได้แก่ (1) การพัฒนาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ชิลีมีอยู่เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น (สินค้าส่งออกกว่าร้อยละ 95 ของชิลีส่งไปยังตลาดของประเทศที่ชิลีมี FTA ด้วย โดยชิลีมี FTA จำนวน 29 ฉบับกับ 65 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึง FTA กับ EU ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 88 ของ GDP โลก) (2) เพิ่มความหลากหลายของสินค้าส่งออกและตลาดส่งออก โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) อินเดีย และอาเซียน (3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชิลีในเวที APEC WTO และ PA (4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และ (5) พัฒนาและส่งเสริมการประสานงานภายในระหว่างหน่วยงานและภายนอกกับประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ SUBREI ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับบรูไนฯ ออสเตรเลีย แคนาดา เมียนมา นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน เน้นย้ำความสำคัญของการขจัดอุปสรรคทางการค้า และไม่ออกมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างกัน อีกทั้งร่วมมือกับประเทศคู่ค้ารวมทั้งไทยเพื่อผ่อนปรนการรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารฉบับจริง
 
**************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ