งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นในปี 2562

งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นในปี 2562

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,017 view

          สถาบันวิจัย Stockholm International Peace Research Institute (SIPR) ของสวีเดนรายงานว่า ในปี 2562 งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากปี 2561 เป็นวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดตั้งแต่ปี 2553 โดยสหรัฐฯ ยังคงมีงบประมาณด้านการทหารที่มากที่สุดในโลก เป็นวงเงิน 732 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 38 ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก) ตามด้วยจีน (วงเงิน 261 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 14 ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก) และอินเดีย (วงเงิน 71.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8% จากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 4 ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก) และนับเป็นครั้งแรกที่จีนและอินเดียติดอยู่ใน 3 อันดับแรกพร้อมกัน (อันดับ 4 คือ ซาอุดีอาระเบีย และอันดับ 5 คือรัสเซีย)

 

ลูกเรือและสมาชิกประจำเรือบรรทุกอากาศยานฝรั่งเศส Charles de Gaulle ที่ประจำการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน // ที่มาของรูป : reuters

 

          การใช้จ่ายด้านการทหารในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแข่งขันการขยายอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการทหารในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ซึ่งระหว่างปี 2553-2562 การใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 ในส่วนของอินเดีย ซึ่งมีความขัดแย้งกับจีนและปากีสถาน ได้ขยายการใช้จ่ายด้านการทหารร้อยละ 37 สะท้อนถึงศักยภาพด้านการทหารของอินเดียที่ประสงค์จะก้าวขึ้นเป็นมหาอํานาจในอนาคต

 

DF-41 ขีปนาวุธข้าทวีปของประเทศจีนที่นำมาจัดโชว์ในจัตุรัสเทียนอันเหมิน เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี 2562 // ที่มาของรูป : Wu Hong/EPA/EFE

 

          นอกจากจีนและอินเดีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ให้ความสําคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการทหาร ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และการขยายบทบาทของจีนในภูมิภาค โดยในปี 2563 เกาหลีใต้ได้จัดสรรงบประมาณด้านการทหาร 42.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากปี 2562) เป็นไปตาม Defence Reform 2.0 ที่ประธานาธิบดีมุน แช-อิน ประกาศเมื่อปี 2561 เพื่อเพิ่มงบประมาณด้านทหารประมาณร้อยละ 7.5 ต่อปีจนถึงปี 2566 กรณีญี่ปุ่น ในปี 2563 ได้จัดสรรงบประมาณด้านการทหาร 48.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปี 2562) ถือเป็นการขยายงบประมาณ  ทุกปีตั้งแต่ปี 2555 สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถและบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (Japan Self-Defence Force)

 

เครื่องบินขับไล่รุ่น F-35B ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการนำมาใช้สำหรับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น // ที่มาของรูป : KYODO 

 

          ทั้งนี้ SIPR คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายด้านการทหาร เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ต้องหันมาเน้นการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสาธารณสุข พร้อมกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม SIPR คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านการทหารจะกลับมาสู่ภาวะปกติ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ฟื้นตัว

 

*************************

แหล่งข่าวอ้างอิง :

https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3081643/military-spending-surged-us19-trillion-2019-biggest-increase

https://www.euractiv.com/section/defence-and-security/news/military-spending-saw-biggest-increase-in-a-decade-in-2019/ 

https://www.japantimes.co.jp/news/2019/12/20/national/japan-defense-budget-hits-new-high/#.XrTQDzEzaM8

https://www.spf.org/iina/en/articles/ito_02.html 

https://www.bbc.com/news/world-51475892 

https://economictimes.indiatimes.com/news/defence/global-military-spending-saw-largest-increase-in-decade-in-2019-china-india-in-top-3-study/printarticle/75404166.cms

 

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

พฤษภาคม 2563

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ