เม็กซิโกซิตี้ ฉบับกระเป๋าเมืองเก่ากลางกรุง

เม็กซิโกซิตี้ ฉบับกระเป๋าเมืองเก่ากลางกรุง

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ต.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,353 view

  

    คำตอบที่กระชับไม่แพ้คำถามก็คือ “ย่านเก่ากลางกรุง” หรือที่เรียกว่า Centro Historico นั่นอย่างไรครับ พื้นที่นี้เมื่อเกือบ ๕๐๐ ปีที่แล้วถือเป็นจุดกำเนิดของสังคมเม็กซิโกซึ่งเรารู้จักกันในปัจจุบัน ภายใต้พื้นที่ ๙ ตารางกิโลเมตร หรือกว่า ๖๖๐ บล็อคของย่านนี้ มีอาคารสถานที่ซึ่งทางการเม็กซิโกขึ้นสถานะให้มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้ถึงกว่า ๑,๕๐๐ แห่ง แต่ละแห่งบันทึกไว้ซึ่งเรื่องเล่าจากอดีตที่สะท้อนอัตลักษณ์ของสังคมเม็กซิโกที่เปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย

    ภายใต้เวลาอันจำกัด ทัวร์ฉบับกระเป๋าแบบของเราขอรวบรัดพาคุณเข้าเยี่ยมชมเพียงบางสถานที่ซึ่งมีความหมายต่อชาวเม็กซิกันเป็นลำดับต้น ๆ ตามเส้นทางต่อไปนี้ 

 

โซกาโล (Zocalo) หัวใจเมืองเก่า 

 

    ไม่ว่าคุณจะออกเดินทางจากจุดไหนของเม็กซิโกซิตี้ ขอให้หา Grab อูเบอร์ แท็กซี่ หรือรถไฟใต้ดิน ไปตั้งต้นที่จัตุรัส “โซกาโล (Zocalo)” ซึ่งถือเป็นใจกลางเมืองเก่าของนครหลวง เอ่ยชื่อนี้กับชาวเมืองแล้ว น้อยคนที่จะไม่รู้จัก (สำหรับพวกเราชาว กต. โซกาโลอยู่ห่างกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกออกไปราว ๑๕ นาทีเดิน หากมีเวลาเหลือหลังการหารือแล้ว สามารถตามป้าย Centro ไปบนถนน Calz. San Antonio Abad เดินไปราว ๑๐ บล็อคนิด ๆ ก็จะถึง)

 

 

    

 

    จัตุรัสโซกาโลแห่งนี้มีชื่อทางการว่า พลาซารัฐธรรมนูญ (Plaza de la Constitucion) และสังเกตเห็นได้ไม่ยากเพราะมีลักษณะเป็นลานโล่งกว้างขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามฟุตบอล โดยอาคารใหญ่น้อยที่ล้อมรอบและกระจายออกจากจัตุรัสแห่งนี้ไปทั่วเมืองเก่ามีที่มาจากยุคสมัยอันหลากหลาย ตั้งแต่ซากโบราณสถานของชาวแอซเท็คก่อนการเข้ามาของสเปน อาคารสมัยอาณานิคม ตึกรามสมัยหลังสงครามเอกราชจากสเปน เรื่อยมาจนยุคหลังสงครามกลางเมืองหรือที่เรียกว่าการปฏิวัติเม็กซิโกในช่วง ๒๐-๓๐ ปีแรกของคริสตศตวรรษที่ ๒๐

 

    จากจัตุรัสโซกาโลมองออกไปรอบ ๆ จะพบเห็นอาคารหรือสถานที่สำคัญใกล้ ๆ ๓ แห่ง ได้แก่  

 

    ๑. Metropolitan Cathedral เป็นมหาวิหารสูงใหญ่ซึ่งคงยากที่ใครจะพลาดมอง มหาวิหารเด่นสะดุดตาแห่งนี้มีชื่อทางการยาวเหยียดสมความโอฬารว่า Metropolitan Cathedral of the Assumption of the Most Blessed Virgin Mary to Heaven หรือพากย์ไทยได้ทำนองว่า “มหาวิหารหลวงแห่งการเถลิงสวรรค์ของพระแม่มาเรียผู้เสกบริสุทธิ์" 

 

 

 

    เจ้าอาณานิคมชาวสเปนที่มาถึงบริเวณนี้ในปี ค.ศ.๑๕๑๙ ได้ค่อย ๆ เข้ายึดพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นศาสนสถานและบ้านเรือนของชาวแอซแท็ค โดยเมื่อทำลายอาคารสถานที่ต่าง ๆ ของชาวพื้นเมืองลงแล้ว ก็เริ่มสร้างมหาวิหารแห่งนี้ขึ้นเป็นหมุดหมายสำคัญของเมืองใหม่ในปี ค.ศ.๑๕๗๓ (เทียบเคียงได้กับรัชสมัยพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรฯ) ซึ่งกว่ามหาวิหารจะถูกสร้างให้เต็มรูปได้ก็ใช้เวลากว่า ๒๐๐ ปี จึงมีลักษณะศิลปกรรมที่ผสมผสานระหว่างบาโรค เรอเนสซองส์ และนีโอคลาสิค หอระฆังสองข้างของมหาวิหารมีระฆังรวม ๒๕ ใบ ใบใหญ่ที่สุดมีน้ำหนัก ๑๓ ตันกว่า ได้ฤกษ์ลั่นบรรเลงเมื่อใด คงสนั่นสะท้านไปทั่วกรุงเก่าเม็กซิโกเมื่อนั้น 

 

 

 

 

    ๒. Templo Mayor (เท็มโปล มายอร์) เป็นซากโบราณสถานขนาดใหญ่ทางด้านซ้ายของมหาวิหาร เดิมเป็นศาสนสถานทรงปิระมิดยอดตัดสองยอดของชาวแอซแท็คเผ่าเตโนช์ติทลาน (Tenochtitlan) สร้างขึ้นราวปี ค.ศ. ๑๓๒๕ (หรือประมาณช่วงปลายของอาณาจักรสุโขทัย) เพื่ออุทิศให้เทพแห่งสงคราม (Huitzilopochtli) และเทพแห่งฝนกับการเกษตร (Tlaloc)

 

 

 

    ปิระมิดแอซเท็คแห่งนี้มีบันทึกระบุไว้ชัดเจนว่าเจ้าอาณานิคมชาวสเปนได้ทำลายลงในต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๖ และนำหินจากปิระมิดไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิหาร Metropolitan โดยเมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ ข้อมูลที่ตั้งของปิระมิดก็ลบเลือนไปจากความทรงจำของสังคม ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าศาสนสถานแอซเท็คแห่งนี้ถูกมหาวิหาร Metropolitan สร้างทับโดยตรง จึงเห็นควรปล่อยเลยตามเลยไป 

 

 

    เท็มโปล มายอร์ กลับมาสู่ความรับรู้ของผู้คนอีกครั้งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อการค้นคว้าของนักโบราณคดีสามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งได้ อย่างไรก็ดี ต้องรอการเปลี่ยนแปลงในสังคมเม็กซิโกอีกกว่า ๗๐ ปีก่อนที่เท็มโปล มายอร์ จะได้รับการอนุมัติให้ขุดฟื้นคืนมาบูรณะเท่าที่เห็นกันทุกวันนี้ โดยทั้งอุปสรรคและปัจจัยที่เอื้ออำนวยการปฏิสังขรณ์ต่างเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของเม็กซิโกที่เปลี่ยนแปรไปตามพลวัตสังคมการเมือง

 

    เมื่อนักวิชาการในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ตรวจพบตำแหน่งที่ชัดเจนของเท็มโปล มายอร์ พื้นที่ดังกล่าวมีคฤหาสน์ยุคอาณานิคมและยุคต่อมาปลูกทับอยู่กว่า ๑๐ หลัง โดยเจ้าของคฤหาสน์ผู้มีอันจะกินสามารถใช้อิทธิพลยับยั้งแผนการขุดแต่งไว้ได้ กอปรกับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๑๐ เม็กซิโกได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติหรือว่าที่จริงก็คือสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมายาวนานเกือบ ๒๕ ปี หลังจากนั้นวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และสงครามโลกครั้งที่สองก็กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนของสังคมเม็กซิโกมากไปกว่าเรื่องการค้นพบทางโบราณคดี

 

    จนเมื่อเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ อัตลักษณ์ใหม่ของเม็กซิโกที่ค่อย ๆ ใช้เวลาสั่งสมบ่มเพาะขึ้นอย่างล้มลุกคลุกคลานหลังสงครามกลางเมือง (Mexican Revolution) ก็ได้จังหวะผลิดอกออกผล บัดนี้ กลุ่มผู้นำใหม่ภายใต้พรรค National Revolutionary Party สามารถต้านการกลับมาของเผด็จการทหารหรือชนชั้นสูงได้อย่างมั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องอ้างอิงตนกับประวัติศาสตร์และศิลปกรรมของชนชั้นปกครองเดิมอีกต่อไป แต่กลับหันไปให้คุณค่าความสำคัญกับวัฒนธรรมของมวลชนรากหญ้ากลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นฐานสนับสนุนการช่วงชิงอำนาจของตน โดยหนึ่งในกลุ่มมวลชนรากหญ้านี้ได้แก่ชนพื้นเมืองผู้มีรากเหง้า      อารยธรรมอันยิ่งใหญ่และเก่าแก่กว่าเจ้าอาณานิคมชาวสเปนเสียด้วยซ้ำ

 

 

 

    บริบทการเมืองและการให้ความหมายแก่อัตลักษณ์ใหม่ทางสังคมเช่นนี้ทำให้ทางการเม็กซิโกตัดสินใจรื้อทำลายคฤหาสน์หลังงามกว่า ๑๐ แห่งลงเพื่อขุดฟื้นซากโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ถูกทับถมมาเป็นเวลาเกือบ ๕๐๐ ปีให้กลับคืนสู่สายตาสาธารณชน การขุดแต่งบูรณะที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๗๘ ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก สิ่งของเหล่านี้พร้อมประวัติความเป็นมาได้รับการประมวลแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เท็มโปล มายอร์  ซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่สี่ชั้นที่สร้างขึ้นในอีก ๙ ปีต่อมา (ค.ศ. ๑๙๘๗) ในบริเวณเดียวกัน

 

 

 

   

 

    ๓. The National Palace of Mexico (Palacio Nacional) เป็นอาคารเก่าที่ทอดยาวล้อมต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม อาคารด้านหนึ่งขนานไปกับจัตุรัสโซกาโล พื้นที่ด้านในมีอาคารเชื่อมตัดกันอีกหลายแห่งทำให้เกิดเป็นคอร์ตยาร์ดหรือสวนระหว่างอาคารต่าง ๆ 

 

 

 

    National Palace สร้างขึ้นในครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ ๑๖ เพื่อเป็นวังของเจ้าอาณานิคม โดยหลังจากเม็กซิโกทำสงครามกับสเปนจนได้เอกราช (ค.ศ. ๑๘๑๐-๑๘๒๑) กลุ่มอาคารแห่งนี้ก็ถูกปรับขยายต่อ ๆ มาเป็นทำเนียบประธานาธิบดี ที่ทำการกระทรวงต่าง ๆ ที่ประชุมวุฒิสภา และอีกหลายการใช้สอย ปัจจุบัน พื้นที่อันกว้างขวางของ National Palace ถูกจัดสรรเป็นที่ทำการหน่วยงานรัฐบาลกลาง ได้แก่ หอจดหมายเหตุ บางส่วนของกระทรวงการคลัง และสำหรับส่วนราชการอื่น ๆ อีกนิดหน่อย

 

 

    จุดเด่นของ National Palace (ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี แต่ต้องเข้าแถวรับบัตรคิว) ได้แก่ภาพวาดผนังของ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๕๗) ศิลปินวิญญาณขบถชาวเม็กซิโกซึ่งมีผลงานเป็นเอกลักษณ์เลื่องชื่อไปยังนานาประเทศจากการผสมผสานแนวศิลปกรรมของชนพื้นเมืองลงในเส้นสายและสีสันของภาพวาด

 

    จุดเด่นของ National Palace ที่เปิดให้เข้าชมได้ฟรี ได้แก่ ภาพวาดผนังของ Diego Rivera (ดิเอโก ริเวียรา ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๕๗) ศิลปินวิญญาณขบถชาวเม็กซิโกซึ่งมีผลงานเป็นเอกลักษณ์เลื่องชื่อไปยังนานาประเทศจากการผสมผสานศิลปกรรมของชนพื้นเมืองลงในเส้นสายและสีสันของภาพวาด ภริยาของเขาคือ Frida Kahlo (ฟรีดา คาโล) ก็เป็นศิลปินดังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่แพ้กัน

 

 

 

    ในทศวรรษ ๑๙๒๐ หลังการปฏิวัติเม็กซิโกหรือสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงแต่ยังคงมีแรงกระเพื่อมของการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ กรุ่นอยู่ รัฐบาลสังคมนิยม-เสรีนิยมที่สามารถต่อสู้โค่นล้มเผด็จการทหารและชนชั้นสูงซึ่งครองอำนาจต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้กว่า ๓๐ ปี ได้ว่าจ้างริเวราวาดภาพเล่าเรื่องราว  “ประวัติศาสตร์เม็กซิโก” บนผนังของโถงบันไดทางขึ้นของ National Palace โจทย์ของเรื่องเล่ากำหนดไว้ให้เป็นการสร้าง “สำนึกใหม่ทางสังคม” เพื่อปลุกให้ประชาชนหวงแหนรักษาอำนาจที่เพิ่งพ้นจากการผูกขาดครอบครองของชนชั้นสูง และร่วมสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้การเมืองในอนาคตหวนกลับไปสู่กลุ่มอำนาจเก่าและค่านิยมอนุรักษ์แบบเดิม ๆ การใช้ภาพวาดเล่าเรื่อง ณ สถานที่ราชการซึ่งมีประชาชนมาติดต่อธุระจำนวนมากแห่งนี้ ก็เพื่อให้ชาวเม็กซิโกจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในยุคนั้นสามารถเข้าถึงสารที่รัฐใหม่มุ่งจะสื่อ และสามารถเข้าใจคล้อยตามได้ไม่ยาก

 

 

    ริเวราวาดภาพผนังบริเวณโถงบันไดนี้ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๒๙ - ๑๙๓๕ เขาวางโครงเรื่องไล่เรียงเป็นสีบทใหญ่ที่ต่อเนื่องกันจากบริเวณทางขึ้นชั้นล่างไปจรดชั้นสอง เริ่มจากยุคอารยธรรมชนพื้นเมืองอันรุ่งเรืองและสันติสุข ตามด้วยยุคอาณานิคมที่ชาวสเปนและยุโรปอื่น ๆ เข้ามายึดครองพื้นที่ กดขี่ข่มเหงชนพื้นเมืองและชนชั้นล่างกลุ่มต่าง ๆ (เช่น บนผนังข้างบันไดช่วงสองจะเห็นภาพทหารสเปนข่มเหงหญิงพื้นเมือง) จากนั้นก็เป็นเรื่องราวการลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า จบลงด้วยภาพอนาคตของเม็กซิโก ซึ่งในความเชื่อของริเวราคือการพัฒนาไปตามแนวทางสังคมนิยมแบบโซเวียต (ดังปรากฏเป็นภาพแรงงานโรงงานร่วมใจ ส่วนภาพหญิงที่ยืนอยู่หลังหญิงในเสื้อแดงที่เข้าร่วมบำเพ็ญประโยชน์ให้สังคมก็คือ ฟรีดา คาห์โล ภริยาของเขาซึ่งเป็นศิลปินผู้มีผลงานจิตรกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงไม่แพ้สามี)

 

   

 

 

 

  

 

 

 

    จากเสียงตอบรับที่ดี ริเวราได้รับว่าจ้างให้วาดภาพเพิ่มเติมบนผนังทางเดินชั้นสองถัดจากโถงบันไดในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ริเวรานำเสนอภาพวาดบนช่วงต่าง ๆ ของผนังตามทางเดินยาวนี้เป็นเรื่องราววิถีชีวิตและความเป็นอยู่อันสันติสุขของชาวพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากิน การเพาะปลูก การค้า ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางสังคมของชาวพื้นเมือง ก่อนจบลงด้วยการเข้ามาของชาวสเปนและชาวยุโรปที่สร้างความแตกสลายให้กับสังคมดั้งเดิมด้วยการกระทำต่าง ๆ เช่น การใช้เงินล่อให้แตกแยก การใช้นายหน้าหลอกลวงชาวพื้นเมือง การค้าทาสและบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ การกดขี่ข่มเหงชนพื้นเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

 

 

                                                                                     

    

 

 

 

 

    สิ้นสุดทางเดินที่ประดับด้วยภาพวาดผนัง อาคารได้หักมุมเข้าสู่อีกด้านซึ่งมีบางห้องที่ตกแต่งแบบย้อนยุค โดยมีห้องหนึ่งซึ่งในอดีตใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา

 

 

 

    

 

 

                           

 

 

 

            ออกสู่ภายนอกอาคาร บริเวณด้านล่างเป็นสวนหย่อมแบบต่างๆที่เน้น  ความร่มรื่น                                                   

 

 

 

 

 

 

    จบจากสามสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งย่านโซกาโล หากยังมีเวลาเหลือ ขอแนะนำให้คุณข้ามถนนด้านข้าง Metropolitan Cathedral แล้วเลือกเดินเข้าสู่ถนน Avenida 5 de Mayo หรือ Avenida Hidalgo เพื่อไปยังบริเวณที่เรียกว่า Bellas Artes (เบยาส อาร์เตส) หรือโรงอุปรากรแห่งชาติ (ใช้เวลาราว ๑๕ นาทีเดิน)

 

 

    บริเวณนั้นเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างย่านเมืองเก่ากับเมืองปัจจุบันที่มีสถาปัตยกรรมยุคใหม่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาตั้งรอให้ชมอยู่ โดยอาคารสำคัญของบริเวณนี้ ได้แก่

 

    ๔. Palacio de Bellas Artes หรือโรงอุปรากรแห่งชาติเม็กซิโก เดิมอาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบโดย Adamo Boari สถาปนิกชาวอิตาลีซึ่งวางแผนสร้างให้เสร็จในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ เพื่อฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีสงครามอิสรภาพจากสเปน อย่างไรก็ดี สงครามการเมืองหรือการปฏิวัตเม็กซิโก (Mexican Revolution) ที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อเป็นเวลา ๑๐ ปีกว่า (ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๒๐) ทำให้การก่อสร้างต้องเลื่อนออกไปจนมาเสร็จลงในปี ค.ศ.๑๙๓๔ โดย Federico Mariscal สถาปนิกรายใหม่ได้เข้ามารับช่วงผสานการออกแบบของเขาและของสถาปนิกเจ้าเดิมเข้าด้วยกัน รูปลักษณ์อาคารจึงมีลักษณะผสมระหว่างศิลปกรรมแบบนีโอคลาสิคกับอาร์ตนูโว (ภายนอก) และอาร์ตเดโค (ภายใน) 

 

  

  

 

    โรงอุปรากรหรือโรงละครแห่งชาติเม็กซิโกเปิดให้เข้าชมฟรีในบางส่วนของชั้นล่าง นอกอาคารเป็นลานกว้าง ล้อมรอบด้วยตึกรุ่นเก่า กลาง และใหม่ โดยอาคารน่าสนใจ อาทิ

 

    ๕. Latin America Tower (La Torre Latinoamericana) เป็นตึกระฟ้า ๔๔ ชั้น อยู่ตรงข้ามลานหน้าโรงละคร สร้างขึ้นกว่า ๖๐ ปีที่แล้ว (ค.ศ. ๑๙๕๖) แต่ไม่เคยตกสมัยด้วยรูปทรงที่ล้ำเข้าสู่อนาคตล่วงหน้าไปไกลก่อนแล้ว ตึกระฟ้าวัยเลยแซยิดนี้เคยครองแชมป์ตึกที่สูงที่สุดในลาตินอเมริกา และสามารถต้านทานแผ่นดินไหวครั้งสำคัญ ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่ได้รับความเสียหายเหมือนหลายอาคารรอบ ๆ เช่น แผ่นดินไหวขนาด ๗.๙ ริกเตอร์ในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ (หรือ ๑ ปีหลังสร้างเสร็จ โดยแผ่นดินไหวขนาดนี้เคยถล่มซานฟรานซิสโกพินาศไปทั้งเมืองเมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๖) และขนาด ๘.๑ ริกเตอร์ในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ (ซึ่งใหญ่กว่าแผ่นดินไหวที่โกเบในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ กว่า ๑๐๐ เท่า) 

 

 

 

    ๖. House of Tiles (Casa de los Azulejos) ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงอุปรากรแห่งชาติด้านถนน Eje Central Lazaro Cardenas อาคารซึ่งประดับผนังภายนอกด้วยกระเบื้องสะดุดตาทั้งหลังเคยเป็นคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินเชื้อสายผสมระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวสเปน (creole) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๙๓ (หรือหลังตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ประมาณ ๑๐ กว่าปี) ต่อมามีการประดับปรับแต่งภายนอกด้วยกระเบื้องสีฟ้า-ขาวจากมลรัฐ Puebla อาคารเปลี่ยนเจ้าของหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งได้มีการเพิ่มเติมตัวอาคารและศิลปกรรมภายใน ปัจจุบันเป็นร้านอาหารหรูชื่อ Sanborns ซึ่งเป็นนามสกุลของสองพี่น้องที่ซื้อคฤหาสน์หลังนี้ไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ 

 

 

 

 

 

    ๑.๗ Post Office Palace (Palacio de Correos de Mexico) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๗ และยังคงทำหน้าที่เดิมมาจนปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการลดพื้นที่ภายในอาคารที่ใช้งานเพื่อการไปรษณีย์ลง อาคารได้รับการออกแบบโดย Adamo Boari สถาปนิกรายแรกผู้ออกแบบโรงละครแห่งชาติ รูปลักษณ์อาคารผสมผสานศิลปกรรมหลายยุคหลายสกุลไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ทั้งแบบบาโรค กอธิค เรอเนสซองส์ อาร์ตนูโว ฯลฯ ทำให้อาคารดูฟู่ฟ่าตระการตามากโดยเฉพาะภายใน

 

 

 

 

ก่อนปิดกระเป๋า

    พาคุณเยี่ยมชมอาคารสถานที่ในย่านเก่ากลางกรุงเม็กซิโกซิตี้ฉบับย่อแล้ว คงต้องหมายเหตุตัวโต ๆ ไว้ว่านอกเหนือจากที่ต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังคงมีที่อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากซึ่งรอให้เรากลับไปค้นหาทำความรู้จักเพิ่มเติม ที่สำคัญก็คือ ย่านเก่ากลางกรุงนี้ไม่ได้มีแค่เพียงสถานที่ทางประวัติศาสตร์หรือบรรยากาศแห้ง ๆ อย่างที่บางคนอาจเข้าใจ หากกลับเต็มไปด้วยชีวิตของผู้คนที่ออกมากินดื่ม เที่ยวเล่น พักผ่อน จับจ่ายใช้สอย เข้า ๆ ออก ๆ ตามร้านขนม ร้านอาหาร ร้านค้าร้านรวงหลากหลายระดับ ตั้งแต่รถเข็นไปจนถึงห้างหรู ซึ่งแต่ละที่ดูคึกคักคับคั่งมีชีวิตชีวา 

 

    ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีเวลาแสนสั้นหรือความสนใจใคร่รู้อันสั้นต่อประวัติความเป็นมาใด ๆ ก็ตาม ใครที่ผ่านไปยังเม็กซิโกซิตี้ก็น่าจะลองหาโอกาสตระเวนไปสัมผัสบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านประวัติศาสตร์กลางกรุงสักนิด โดยผมเชื่อว่าอดีตและปัจจุบันอันหลากหลายซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตของย่านนี้จะสร้างความอิ่มอกอิ่มใจให้เรา ๆ ท่านๆ ที่อาจมีรสนิยมแตกต่างกันได้เสมอกัน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็สมความตั้งใจของ “เม็กซิโกซิตี้ฉบับกระเป๋า” ตอนนี้แล้ว 

 

 

                 * * * * *

 

เรื่อง : วิชชุ เวชชาชีวะ

ภาพ : พงศ์สิน เทพเรืองชัย , วิชชุ เวชชาชีวะ , ทิพาพร อรรถศิวานนท์