วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ต.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 นาย Elon Musk ประธานบริหารของบริษัท Tesla, Inc ได้ออกมาแถลงข่าวต่อผู้ถือหุ้นว่า บริษัท Tesla ได้รับกรรมสิทธ์ในพื้นที่ของรัฐเนวาดาจำนวน 10,000 เอเคอร์ ซึ่งใกล้กับโรงงาน Giga Nevada ของบริษัทตน เพื่อที่จะผลิตแร่ลิเทียมจากตะกอนดินเหนียว และจะทำให้ Tesla เป็นบริษัทแรก ๆ ในโลกที่จะสามารถผลิตโลหะผสมจากก้อนดินเหนียว โดยบริษัทมีแผนที่จะผสมก้อนดินเหนียวกับเกลือ และใส่น้ำตามเพื่อก่อปฏิกิริยาทางเคมีให้เกลือชะล้างลิเทียมออกมาแทนการใช้กรด (แร่ลิเทียมสามารถผลิตได้จากน้ำเค็มหรือแร่ Spodumene จากหินชนิดหนัก) จากนั้นก้อนดินเหนียวที่เหลือจะถูกนำกลับไปใส่คืนผิวดินเหมือนเดิมเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
โรงงาน Giga Nevada ในรัฐเนวาดาของบริษัท Tesla, Inc // ที่มาของรูป : REUTERS
อย่างไรก็ดี แผนการผลิตแร่ลิเทียมของบริษัท Tesla ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายมุม โดยนักวิเคราะห์บางคนแสดงความเห็นว่า การที่บริษัท Tesla นำก้อนดินเหนียวกลับคืนใส่ผิวดินเป็นเรื่องปกติที่ทำกันในวงการอุตสาหกรรมผ่านการทำเขื่อนกักเก็บแร่ (Tailing Dams) และการใช้น้ำแทนการใช้กรดละลายแร่ลิเทียมออกมามีความคลุมเครือ รวมถึงปัญหาที่บริษัท Tesla อาจจะต้องเผชิญกับฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อดึงน้ำบาดาลใต้ดินมาใช้ในการผลิตแร่ อย่างไรก็ตามบริษัท Tesla ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ ต่อข้อคิดเห็นในข้างต้น
นอกจากบริษัท Tesla ที่ทำการผลิตแร่ลิเทียมในรัฐเนวาดาแล้ว ยังมีบริษัท Lithium Americas Corp และบริษัท Ioneer Ltd ที่ทำเรื่องขอใบอนุญาตผลิตแร่จากรัฐบาลสหรัฐฯ มาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว ขณที่ะบริษัท Albemarle Corp ที่มีเหมืองขุดแร่ลิเทียมแบบใช้น้ำเค็มแห่งเดียวในสหรัฐฯ ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 และผลิตแร่ลิเทียมไม่เกิน 5,000 ตันต่อปี แต่เหมืองขุดแร่ลิเทียมดังกล่าวปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563
เหมืองขุดแร่ลิเทียมของบริษัท Albemarle Corp ที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 // ที่มาของรูป : Doc Searls, FLICKR
ทั้งนี้ นาย Pedro Palandrani นักวิจัยของบริษัท Global X Lithium & Battery Technology ETF บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัท Tesla และบริษัทอื่น ๆ ที่ทำการผลิตแร่ลิเทียม กล่าวว่า อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี ก่อนที่บริษัท Tesla จะได้รับผลผลิตจากแร่ลิเทียมตามที่คาดการณ์ไว้
การที่ Tesla พยายามพัฒนาการผลิตลิเทียมข้างต้น แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย แต่ก็สะท้อนถึงความสําคัญ/ความต้องการของลิเทียมในอนาคต โดยเฉพาะในการผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแนวคิดพลังงานสะอาด ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตื่นตัวและมองหาพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาที่ย่อมเยา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ (อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการ Lithium Chloride มาแปรรูปสู่การใช้งาน) ซึ่งบริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ต่างประกาศเดินหน้าผลิตรถยนต์พลังงานผสมชนิดพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Vehicle) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
********************
ที่มาของรูปหน้าปก : REUTERS
รูปภาพประกอบ
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)