สาระน่ารู้เกี่ยวกับปาเลา

สาระน่ารู้เกี่ยวกับปาเลา

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 12,737 view

หน้าปกสาระน่ารู้ปาเลา

 

วันนี้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับประเทศปาเลา ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับประเทศปาเลา 10 ข้อ

 

ข้อ_1_ปาเลา_(Alternative_Design)

1) ประเทศปาเลามีขนาดพื้นที่ 450 ตารางกิโลเมตร (มีขนาดเล็กกว่าจังหวัดภูเก็ต 543 ตารางกิโลเมตร) ปาเลาจึงนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด โดยอยู่ในลำดับที่ 179 จาก 194 ประเทศทั่วโลก

 

ข้อ_2_ปาเลา

2) ปาเลาได้รับเอกราชจากสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1994 โดยภายหลัง สหพันธรัฐไมโครนีเซีย และสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ เป็น 3 ประเทศในแปซิฟิกที่ทำสัญญาความสัมพันธ์เสรี (Compact of Free Association - COFA) กับสหรัฐฯ ซึ่งยังคงให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจและทางทหารสำหรับสามประเทศที่ทำสัญญานี้

    ในอดีตปาเลาเป็นเกาะที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของทั้ง สเปน ในฐานะดินแดนโพ้นทะเล (Spanish East indies) ต่อมาในปี ค.ศ. 1574 ภายหลังสงครามอเมริกัน-สเปน เกาะปาเลาถูกขายต่อให้กับจักรวรรดิเยอรมัน จึงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเยอรมันนิวกินี (German New Guinea) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นได้ปกครอง เกาะปาเลาต่อจากจักรวรรดิเยอรมัน ตามด้วยสหรัฐฯ ที่เข้ามาปกครองครองเกาะปาเลาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี ค.ศ. 1994

 

ข้อ_3_ปาเลา

3) ปาเลานับเป็นเพียง 1 ใน 8 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ที่ไม่มีกองทัพประจำการ (Standing Army) โดยรัฐธรรมนูญของปาเลาระบุให้ตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศกับลาดตระเวนตรวจตราตามน่านน้ำชายแดนของปาเลาเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ ปาเลาเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำสัญญาความสัมพันธ์เสรี (Compact of Free Association) ซึ่งมีผลทำให้สหรัฐฯ ให้ความคุ้มครองทางการทหารแก่ปาเลา และสามารถส่งทหารมาประจำการในปาเลาได้เช่นกัน

 

ข้อ_4_ปาเลา

4) ปาเลาเป็น 1 ใน 4 ประเทศจากภูมิภาคโอเชียเนีย (Oceania) ที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน (3 ประเทศที่เหลือ คือ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สาธารณรัฐนาอูรูและประเทศตูวาลู) โดยปาเลาสถาปนาความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1999 ปาเลาได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงไทเป และไต้หวันได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตอยู่ที่นครคอรอร์ (Koror) เมืองที่ใหญ่ที่สุดและอดีตเมืองหลวงของปาเลา

 

ข้อ_5_ปาเลา

5) ปาเลาเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศจัดตั้งเขตอนุรักษ์ปลาฉลาม (Shark Sanctuary) ในปี ค.ศ. 2009 โดยห้ามทำการล่าปลาฉลามในเชิงพาณิชย์ทุกรูปแบบในเขตน่านน้ำเศรษฐกิจจำเพาะของตน (Exclusive Economic Zone - EEZ) โดยขนาดพื้นที่อนุรักษ์ปลาฉลามมีขนาดอยู่ที่ 600,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศส

 

ข้อ_6_ปาเลา

6) ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปาเลาจำนวนถึง 89,727 คน ซึ่งมากกว่าประชากรของ  ปาเลาถึง 5 เท่า (17,907 คน) ปาเลาเป็นประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมโดยเฉพาะการดำน้ำดูปะการังกับซากเรือรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงการท่องเที่ยวตามริมชายหาดและป่าชายเลน

https://www.palaugov.pw/visitor-arrivals/ 

 

ข้อ_7_ปาเลา

7) เกาะ Rock Islands (Chelbacheb) เป็นแหล่งมรดกโลก UNESCO ของปาเลาที่มีชื่อเสียง โดยได้รับสถานะมรดกโลกในปี ค.ศ. 2012 เกาะ Rock Islands เป็นหมู่เกาะปะการังหินปูนที่โผล่ขึ้นจากระดับน้ำทะเล โดยรูปร่างของเกาะใน Rock Islands จะมีรูปร่างลักษณะเหมือนร่มที่โค้งงอ

    เกาะ Rock Islands มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะจุดดำน้ำที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศทางทะเลกับปะการัง ชายหาดที่สวยงามรวมไปถึงทะเลสาบแมงกะพรุน (Jellyfish Lake)

 

ข้อ_7.5_ปาเลา

     ทะเลสาบ Jellyfish เป็นทะเลสาบบนเกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Rock Islands ทะเลสาบนี้มีความยาว 400 เมตร ลึก 30 เมตร ซึ่งทะเลสาบ Jellyfish มีความแตกต่างจากทะเลสาบอื่น ๆ บนหมู่เกาะ Rock Islands เพราะเป็นทะเลสาบที่มีแมงกะพรุนประเภททองคำ (Golden Jellyfish) หลายล้านตัว ซึ่งจัดเป็นประเภทแมงกะพรุนไม่มีพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทำให้สามารถลงไปว่ายน้ำท่ามกลางฝูงแมงกะพรุนได้

     ทะเลสาบ Jellyfish ได้กลับมาอนุญาตให้คนทั่วไปรับชมได้อีกครั้งเมื่อปี 2019 หลังจากที่ปิดไปเพราะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทะเลสาบเพียงแห่งเดียวของเกาะ Rock Islands ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ ซึ่งจะต้องใช้บริการไกด์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล  ห้ามนำอุปกรณ์ดำน้ำเข้าไปในทะเลสาบและห้ามดำน้ำลึก

 

ข้อ_8_ปาเลา

8) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2018 ปาเลาได้ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (Treaty on Prohibition of Nuclear Weapons / Nuclear Weapons Ban Treaty) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ห้ามการค้าขาย ผลิตและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่อาจนำไปสู่สงครามได้ จึงเป็น 1 ใน 34 ประเทศและนับเป็น 1 ใน 8 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่ลงนามในสนธิสัญญานี้ (อีก 7 ประเทศที่ลงนาม ได้แก่ ฟิจิ คิริบาติ นาอุรู นิวซีแลนด์ ซาเมา ทูวาลู และวานูอาตู)

 

ข้อ_9_ปาเลา

9) กบปาเลา (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cornufer pelewensis) เป็นกบพันธ์เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้เพียงแค่ในประเทศปาเลาเท่านั้น โดยจะมีถิ่นที่อยู่อาศัยตามป่าดิบชื้นเขตร้อน ป่าชายเลน ถ้ำไปจนถึงพื้นที่ตามชุมชนเมืองที่ใกล้กับแหล่งน้ำ นับเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวอยู่ตามสภาพแวดล้อมได้อย่างหลากหลายและกบปาเลาเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของ  ปาเลาที่สามารถพบได้ทั่วหมู่เกาะปาเลาในแทบทุกรัฐ

 

ข้อ_10_ปาเลา_1

10) ปาเลาเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่สร้างผลกระทบต่อปะการังและสัตว์ทะเล ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2020 โดยผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่โดนแบน จะเป็นครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสาร ออกซีเบนโซน (Oxybenzone) กับ อ็อกทิล เมท็อกซีซินนาเมท (Octyl methoxycinnamate) โดยห้ามวางจำหน่ายและนำเข้ามาใช้ในปาเลาอย่างเด็ดขาด

     

     ปาเลานับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและเชิงธรรมชาติ     การแบนผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมของปาเลาและเศรษฐกิจของปาเลาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน รัฐและสถานที่อื่น ๆ อย่าง รัฐฮาวายของสหรัฐฯ ที่ประกาศจะแบนผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดภายในปี 2021 และหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ (United States Virgin Islands) กับเกาะโบแนเรอ (Bonaire Island) ภายใต้การปกครองของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ประกาศจะแบนผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตอันใกล้นี้ตามปาเลาไปเช่นเดียวกัน

 

**********

มิ่งเมือง วัฒนะศุกร์

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

กันยายน 2563