การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของเปรูในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19

การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของเปรูในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,482 view

 

    เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 รัฐสภาเปรูได้ผ่านกฎหมายภาคเกษตรกรรมฉบับใหม่ทดแทน ฉบับเดิมที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2543 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 58 เสียง คัดค้าน 32 เสียง และงดออกเสียง 29 เสียง เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานภาคการเกษตรกรรม (สัดส่วนราวร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมการปรับขึ้นค่าแรงของเกษตรกรเปรูให้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนของเปรูที่ราว 266 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงสวัสดิการอื่น อาทิ ค่าล่วงเวลากรณีทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และเงินตอบแทนพิเศษในอัตราร้อยละ 30 ต่อเดือน

 

5b0ab60cb86d07b02d3ee660535ed4118e955950

กลุ่มผู้ชุมนุมแรงงานภาคการเกษตรกรรม ณ จังหวัด Viru ประเทศเปรู ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น // ที่มาของรูป : Gian Mazco, AFP

 

    อย่างไรก็ดี กลุ่มนายจ้างภาคเกษตรกรรมส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นเพียงการแก้ปัญหาทางการเมืองระยะสั้นซึ่งจำกัดสิทธิการเจรจาเรื่องค่าแรงโดยตรงระหว่างนายจ้างกับแรงงาน โดยในระยะยาวอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานและแรงงานนอกระบบในภาคเกษตรกรรมเปรูเพิ่มสูงขึ้น

 

Farmers_Canete_basin_Peru

สินค้าเกษตรของเปรูยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ก็ตาม โดยตลาดส่องออกสินค้าเกษตรหลักของเปรู คือ สหรัฐฯ ชิลี เอกวาดอร์ โคลอมเบีย โบลิเวีย จีน เนเธอร์แลนด์ และสเปน // ที่มาของรูป : Neil Palmer/CIAT

 

    ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การส่งออกสินค้าเกษตรของเปรูยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2563 อยู่ที่ราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลอดทั้งปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ถึงราว 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าหลักด้านการเกษตรซึ่งเปรูส่งออก ได้แก่ บลูเบอร์รี่ องุ่น อะโวคาโด ปลาหมึกยักษ์แช่แข็ง และแอสพารากัส ส่วนตลาดส่งออกสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ชิลี เอกวาดอร์ โคลอมเบีย โบลิเวีย จีน เนเธอร์แลนด์ และสเปน ทั้งนี้ ไทยและเปรูได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเมื่อปี 2546 โดยทั้งสองฝ่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงดังกล่าวซึ่งปัจจุบันครอบคลุมร้อยละ 75 ของสินค้าที่ซื้อขายระหว่างกัน อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สินแร่โลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร และอาหารแปรรูป

 

********************

 

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

13 มกราคม 2564

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ