พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๖ (26th APEC Economic Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี
ในโอกาสเดียวกัน นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐ (30th APEC Ministerial Meeting) ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ปาปัวนิวกินี ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๖๑ กำหนดหัวข้อหลักในการประชุม คือ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” (Harnessing Inclusive Opportunities, Embracing the Digital Future) โดยเน้นประเด็นสำคัญ (priorities) ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงและส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (๒) การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน และ (๓) การเสริมสร้างการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมผ่านการปฏิรูปโครงสร้าง
กำหนดการประชุมที่สำคัญจะประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แบบเต็มวัน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการพบปะหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) และการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและผู้นำกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Countries) จากนั้น ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการหารือในช่วงที่ ๑ (Retreat I) ภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมโยงเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมผ่านอนาคตทางดิจิทัล” (Connecting for Inclusive Growth through Digital Future) และจะกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อย่อย “การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนาคตของเอเปค” (Regional Economic Integration and APEC’s Future) ต่อด้วยการหารือระหว่างอาหารกลางวัน (working lunch) ภายใต้หัวข้อ “ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมในยุคดิจิทัล” (Promoting Inclusive Growth in the Digital Age)
ไทยจะผลักดันประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมเอเปคในปีที่ผ่านมา ๕ ประเด็น ได้แก่ (๑) เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (๒) ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอด APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs ที่ไทยเป็นผู้ผลักดัน (๓) ความเชื่อมโยง โดยเน้นความสอดคล้องระหว่าง ACMECS อาเซียน และเอเปค (๔) การค้าพหุภาคี โดยเน้นย้ำท่าทีสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO และ (๕) วิสัยทัศน์เอเปค หลังปี ๒๕๖๓ โดยเสนอให้เอเปครักษาความสมดุลระหว่างประเด็นด้านการเปิดการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม นอกจากนี้ ไทยจะยกตัวอย่างการดำเนินการของไทยที่สอดคล้องกับวาระของเอเปค เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการต่าง ๆ เป็นต้น
อนึ่ง การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค จัดขึ้นเกือบ ๓๐ ปีแล้วและได้รับความสนใจจากผู้นำของสมาชิกเอเปค ทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๑ ของปาปัวนิวกินี ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปาปัวนิวกินีเข้าเป็นสมาชิกเอเปคเมื่อปี ๒๕๓๖ สำหรับประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๖๕ ต่อจากชิลี (๒๕๖๒) มาเลเซีย (๒๕๖๓) และนิวซีแลนด์ (๒๕๖๔)