กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เข้าร่วมงานสัมนา Investment in Thailand ณ นครซานฟรานซิสโก จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เข้าร่วมงานสัมนา Investment in Thailand ณ นครซานฟรานซิสโก จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 729 view

           เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ค. ๒๕๖๑ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เข้าร่วมงานสัมนา Investment in Thailand ณ นครซานฟรานซิสโก จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นำโดย ผอ.สุดากร เทวกุล ณ อยุธยา ร่วมกับ Silicon Valley Forum จัดงาน Investment in Thailand : A Gateway to Innovation ที่ บริษัท Quid โดยสรุปแบ่งประเด็น ดังนี้

          ๑. การกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย น.ส. อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัด ก. ดิจิทัลฯ ซึ่งกล่าวในภาพรวมถึงที่มาของ นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องประเทศไทย ๔.๐ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาประเทศ และยุทธศาสตร์ของซึ่งเน้นเรื่อง ๑) การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ของไทย เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยมีสถิติการใช้อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (mobile connection) สูงถึงร้อยละ ๑๓๕ และมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social media users) กว่าร้อยละ ๖๗ แต่ยังไม่ค่อยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมมากนัก ๒) การสร้างรัฐบาลดิจิทัล โดยเน้นการใช้ Big data และการแบ่งปัน/แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยราชการ อาทิ การยกเลิกการขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อติดต่อราชการ ๓) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยได้ติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปแล้ว กว่าร้อยละ ๗๕ ของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับงานด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ การแพทย์ทางไกล (telemedicine) และ ๔) การสร้างความปลอดภัยด้านไซเบอร์ โดยจะมีการออกกฎหมายดิจิทัล เพื่อกำกับดูแลความเป็นส่วนตัว (personal privacy) ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic transaction) ภายในปลายปีนี้
         นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ยังกล่าวถึงโครงการที่น่าสนใจของไทย ได้แก่ ๑) การสร้าง ASEAN Digital Hub โดยวางสาย fiber optic ใต้ทะเล ๒) เขตพัฒนาพิเศษภาค ตอ. (EEC) โดยเฉพาะการจัดตั้ง Digital Park Thailand และสถาบัน IoT ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการนำเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจที่ประเทศไทย ให้ความสำคัญ อาทิ เกษตรกรรม ภาคบริการ และโรงงานอุตสาหกรรม และ ๓) การสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย

           ๒. การบรรยาย โดยนายนฤชา ฤชุพันธุ์ ผอ. กองบริหารการลงทุน ๕ (กิจการสร้างสรรค์และดิจิทัล) BOI ซึ่งกล่าวถึง ๑) ความน่าลงทุนของ ปทท. กล่าวคือ ตั้งอยู่ในใจกลางอาเซียน มีเศรษฐกิจ ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของภูมิภาค เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงร้อยละ ๒๐ (ต่ำเป็นอันดับ ๓ ในอาเซียน) และมีค่าครองชีพต่ำเป็นลำดับที่ ๖๐ ของโลก (สหรัฐฯ อยู่ลำดับที่ ๒๕) ๒) ภารกิจของ BOI หลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และ ๓) Smart Visa เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ ให้เข้าไปทำงานในประเทศไทย ในอุตสาหกรรมหลัก ๑๐ สาขา 

          ๓. การอภิปรายเป็นคณะเรื่องธุรกิจสตาร์ทอัพใน ปทท. โดยนายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รอง ผอ. สนง. ส่งเสริม ศก. ดิจิทัล (DEPA) นาง Deborah Magid ผอ. ฝ่ายยุทธศาสตร์ซอฟต์แวร์ บ. IMB Venture Capital Group และนาย Volker Heistermann ผอ. บริหาร บ. Yushan Ventures ซึ่งกล่าวถึงพัฒนาการของธุรกิจสตาร์ทอัพใน ปทท. ที่เติบโตขึ้นมาก โดยมีมูลค่าสะสม (accumulative value) ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปีนี้ คาดว่าจะมูลค่าการลงทุน ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สาเหตุที่ ปทท. สามารถดึงดูดธุรกิจสตาร์ทอัพได้เพิ่มขึ้น น่าจะมาจาก ๑) โครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น ๒) ความเป็นสังคมเปิดและต้อนรับนักลงทุนอยู่เสมอ ๓) มีกิจกรรมจุดประกาย (catalyst) กล่าวคือ งาน Startup Thailand ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า ๔๐,๐๐๐ คน และ ๔) มีสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยมากขึ้น อาทิ การยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ ธ. ต่าง ๆ และการเสนอร่าง พ.ร.บ. การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว เป็นต้น 

          กงสุลใหญ่ฯ แสดงความเห็นว่า ปทท. เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักพัฒนาโปรแกมคอมพิวเตอร์ (programmer) ชั้นนำจากประเทศตะวันตก ที่มักเดินทางมาพำนักอยู่ปีละหลายเดือนเพื่อหนีอากาศหนาว ดังนั้น ไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากจุดนี้ โดยอาจจัดกิจกรรมที่รวมเอาการท่องเที่ยว/พักผ่อน เข้ากับการหารือทางธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ยังได้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศไทย แบบออนไลน์ (e-Visa) ว่า กระทรวงฯ จะเริ่มให้บริการ e-Visa ที่จีนเป็นแห่งแรกในปลายปีนี้ และอาจขยายมาที่สหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ