เม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกปี 2018

เม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกปี 2018

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,692 view

เม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลก ปี 2018

(Mexico World Design Capital 2018)

Mexico City

          เม็กซิโก ซิตี้ ถือเป็นเมกะ ซิตี้ (Mega City) อันหมายถึง เมืองที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไป เม็กซิโก ซิตี้มีประชากรประมาณ 21.6 ล้านคน เป็นเมกะซิตี้ที่มีประชากรมาที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ปัญหาหลักของเมกะซิตี้ทั่วโลกคือประชากรล้น (overpopulation) ซึ่งเม็กซิโก ซิตี้ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคนเป็น 15 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 50 ปี จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงความต้องการที่อยู่อาศัยและบริการที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ การจราจรติดขัด คุณภาพอากาศเลวร้ายและอาชญากรรมก็ตามมาด้วย นอกจากนี้ เม็กซิโก ซิตี้ยังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้ เนื่องจากความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น หากใครเคยเห็นภาพมุมสูงของเมืองนี้ จะเข้าใจเลยว่าปัญหานี้รุนแรงมากขนาดไหน เพราะบ้านเรือนจะอยู่ติดกันแบบรั้วชนรั้ว ที่มีทั้งบ้านหลังใหญ่ดูสะอาดตา มีที่จอดรถกว้างขวาง และตึกแถวแออัดยัดเยียดอย่างชัดเจน

 

                                                           

World Design Capital คืออะไร

          World Design Capital หรือ  เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก มีการเลือกทุกสองปีโดย World Design Organization (WDO) โครงการเลือกเมืองที่มีความโดดเด่นทางด้านการออกแบบเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยเมืองที่ได้รับเลือกต้องเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงผลงานไปจนถึงการจัดประชุมและโครงการทางการศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการออกแบบของเมือง ๆ นั้นในฐานะเครื่องมือการขยายความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้นโยบายการจัดการเมืองด้วยการออกแบบยั่งยืนและการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  

          ในปีที่ผ่าน ๆ มา เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก ได้แก่ โตรีโน (อิตาลี, 2008) โซล (เกาหลีใต้, 2010) เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์, 2012) เคปทาวน์ (แอฟริกาใต้, 2014) และไทเป (ไต้หวัน, 2016) และเม็กซิโก ซิตี้ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกประจำปี 2018 โดยเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกเมืองที่ 6 และเป็นเมืองแรกในทวีปอเมริกาที่ได้รับรางวัลนี้ และมีการประกาศแล้วเช่นกันว่าให้นครลีล (Lille) ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกประจำปี 2020

 

ทำไมเม็กซิโก ซิตี้จึงได้รับเลือกเป็น WDC 2018

          แม้เม็กซิโก ซิตี้จะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเรื่องความแออัด มลพิษ การจราจรที่ติดขัด แต่ความลำบากยากแค้นเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ให้เข้ามาแสวงหาแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์งานออกแบบและผลงานศิลปะ

          WDO ระบุว่า เม็กซิโก ซิตี้ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกประจำปี 2018 เนื่องจากสามารถผสมผสานแนวคิดดั้งเดิมเข้ากับวิสัยทัศน์สมัยใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่นำไปสู่ความยั่งยืน และใช้การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะการเน้นแก้ปัญหาในแถบที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้ต่ำผ่านโครงการเกี่ยวกับสุขภาพ การสื่อสารและความปลอดภัย อันพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามที่จะผลักดันให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการออกแบบในวงกว้าง เช่น โครงการจักรยานสาธารณะ EcoBici สวนกลางเมือง สวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น เป็นต้น

แต่เป็นไปได้ว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้เม็กซิโก ซิตี้ เอาชนะคู่แข่งอย่างเมืองกูรีตีบา (Curitiba) ของบราซิลได้สำเร็จ ดูเหมือนจะเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ไม่เพียงมีแต่การสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแวดวงการออกแบบในภาคประชาชนด้วย

    

รูปภาพจาก https://www.wdccdmx2018.com/

  • การผลักดันจากภาครัฐ

            เนื่องจากระบบคมนาคมและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงและไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ระยะเวลาเดินทางเฉลี่ยของชาวเมืองในเม็กซิโก ซิตี้อยู่ที่ประมาณ 3 ชม. ต่อวัน เมื่อปี 2010 เม็กซิโก ซิตี้ จึงริเริ่มโครงการจักรยานสาธารณะ EcoBici ขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างมาก ปัจจุบันมีสถิติการเดินทางกว่า 52 ล้านครั้ง จำนวนจักรยานให้บริการ 6,800 คัน และสถานีจักรยานทั้งสิ้น 480 สถานี โดยมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ECOBICI CDMX ที่สามารถตรวจสอบว่ามีสถานีจักรยานที่ไหนบ้าง และแต่ละสถานีมีจักรยานจอดอยู่กี่คัน

            ความพยายามในการจัดการเมืองโดยรัฐเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อปี 2014 เมื่อเกิดการเปลี่ยนกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยผู้ใช้จักรยาน ขนส่งสาธารณะ และรถยนต์มาเป็นอันดับสุดท้าย นอกจากนี้เม็กซิโก ซิตี้ ยังลงทุนเรื่องระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT (Bus Rapid Transit) ส่งผลให้มีเส้นทาง BRT ทั้งสิ้น 7 สายภายในระยะเวลาเพียง 13 ปี และจะกลายเป็นเมืองที่มีระบบ BRT ใหญ่ที่สุดในโลกในไม่ช้า

 

      

 

  •  ความร่วมมือจากภาคประชาชน  

             Laboratorio para la Ciudad (Laboratory for the City) เป็นหน่วยงานด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับเมืองและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเมือง โครงการแรก ๆ ของทีมเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่แล้วอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็น Urban Artifact โครงไม้ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายตัวหนอนและมีโพรงตรงกลางให้เข้าไปนั่งได้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้พื้นที่สาธารณะของชุมชนและเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อป โดยตัวงานจะจัดตามจัตุรัสสำคัญหลายแห่งทั่วเมือง หรือเวทีสัมมนาที่เปลี่ยนดาดฟ้าตึกที่ตั้ง Laboratorio para la Ciudad ให้กลายเป็นพื้นที่รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องอนาคตของการผลิตไปจนถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเดินเท้า

             เมื่อชาวเมืองเริ่มตื่นตัว โครงการอื่นๆ ก็เริ่มตามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น Traxi เพื่อฟื้นความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ให้กลับคืนมา หลังจากมีแท็กซี่ไม่ได้จดทะเบียนกว่า 20,000 คันที่เกี่ยวข้องกับคดีลักทรัพย์และทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร จนส่งผลให้มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นและเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นอีก 30% จากการหาที่จอดรถ โดย Traxi จะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยผู้โดยสารตรวจสอบว่าแท็กซี่คันนี้จดทะเบียนแล้วหรือไม่ และยังมีปุ่มแจ้งเหตุร้ายส่งตรงไปยังสำนักงานตำรวจในกรณีเกิดเหตุร้ายอีกด้วย

 

กิจกรรมในเม็กซิโก ซิตี้ในฐานะ WDC 2018

         ปี 2018 เม็กซิโก ซิตี้จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี (Signature events ในเดือนมี.ค. เม.ษ. และต.ค. ) ทั้งนิทรรศการ งานประชุม การจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับการออกแบบภายใต้หัวข้อ Socially Responsible Design หรือการออกแบบที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหัวข้อย่อย ได้แก่ 1.) ผู้คน 2.) พื้นที่สาธารณะ 3.) สิ่งแวดล้อม 4.) อัตลักษณ์เมือง 5.) ความเคลื่อนไหว และ 6.) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “สนับสนุนบทบาทของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ในฐานะตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในบริบทของความเป็นเมือง ทั้งยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น พื้นที่สาธารณะ และความยั่งยืน”

          พิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 - 6 มี.ค. บริษัทสถาปนิกชั้นนำของโลก 10 บริษัทเข้าร่วม อาทิ Zaha Hadid Architects, Weiss/Manfredi และ Gaetano Pesce และมีการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการออกแบบที่มีชื่อว่า “WDC International Design Policy Conference” ภายใต้หัวข้อ ‘The Future of Our Cities: a social approach to the challenges of the first urban century’ ที่รวบรวมสถาปนิก  นักออกแบบ นักผังเมืองและศิลปิน 13 คนมาวิเคราะห์ทบทวนนโยบายและปัญหาที่เมืองนี้กำลังเผชิญหน้าในปัจจุบัน ทั้งในด้านพื้นที่สาธารณะ, ความเคลื่อนไหว (mobility), การจัดการขยะและพลังงานสะอาด

  •  สถาบันการศึกษา

             นอกจากนี้ ในระดับมหาวิทยาลัย มีการจัด Inter-University Program โดยมหาวิทยาลัยในเม็กซิโก ซิตี้จะร่วมกันออกแบบโครงการที่มีเป้าประสงค์เพื่อการเชื่อมโยงและการสร้างความร่วมมือทางด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม รวมไปถึงการจัดประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเสวนา เวิร์คชอปเกี่ยวกับการออกแบบ นวัตกรรม สถาปัตยกรรม วิทยาการปรับปรุงเมือง (urbanism) เศรษฐกิจสร้างสรรค์และนโยบายรัฐบาล เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่นักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาด้านการออกแบบ มีสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบและศิลปะเข้าร่วม 9 แห่งที่เข้าร่วม ได้แก่ Universidad La Salle/ Universidad Anahuac/ UNAM ( Architecture School และ the CIDI)/ Universidad Autonoma Metropolitana/ Universidad Iberoamericana/ Universidad del Valle de México/ Tecnologico de Monterrey/ Universidad CENTRO และ the Design School of the National Fine Arts

             นักเรียนนักศึกษายังได้รับโอกาสให้นำผลงานของตนมาจัดแสดงที่ CDMX อันเป็นพื้นที่แสดงผลงานการสร้างสรรค์ที่ตรงกับหัวข้อการออกแบบที่รับผิดชอบต่อสังคม มีการรวบรวมนิทรรศการ งานแสดงอิสระ (Independent events) และผลงานอันมาจากความคิดริเริ่มต่าง ๆ นิทรรศการทั้งหมดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม หากนักเรียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ Inter-University เข้าชมแต่ละนิทรรศการจะได้รับคะแนน 5 คะแนน เมื่อสะสมครบ 100 คะแนนจะได้รับประกาศนียบัตรว่าได้เข้าร่วมงาน Interuniversity จาก World Design Organization และ World Design Capital CDMX นิทรรศการ เช่น การจัดเสวนาหัวข้อ “I live and work in CDMX: Textiles and fashion in Mexico” (11 ก.ค.) เสวนาหัวข้อ “I live and work in CDMX: Young Creators” (11 ก.ค.) ที่ CDMX Space นิทรรศการชื่อ “We were modern” (2 มิ.ย. - 2 ก.ย.) ที่ Museum of Modern Art เป็นต้น

  • พิพิธภัณฑ์

            นอกจากสถาบันการศึกษาแล้ว หน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมอันรวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชนร่วมกันจัดนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบและความสำคัญของการออกแบบ นำโดยพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของเม็กซิโก ซิตี้ ได้แก่ Tamayo Museum/ Museum of Contemporary Art (MAM)/ University Museum of Science and Art (MUCA) Roma and MUCA Campus/ Chopo University Museum/ National Museum of Anthropology และ Mexico City Museum โดยพิพิธภัณฑ์ MUCA Roma จัดนิทรรศการ “I Will What I Want: Women, Design and Empowerment” เกี่ยวกับบทบาทอันซับซ้อนและขัดแย้งของงานออกแบบต่อการได้มาซึ่งความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งนิทรรศการได้จบลงเมื่อ 22 เม.ษ. และนิทรรศการ “Collection of Moments, Design in Mexico, 1999 - 2015” ที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยโชโป (Chopo University Museum) รวบรวมผลงานการออกแบบเม็กซิกันร่วมสมัยมากกว่า 100 ชิ้นโดย 40 นักออกแบบทั้งเดี่ยวและกลุ่ม เพื่อแสดงตัวตนของงานแบบเม็กซิโกตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา นิทรรศการนี้สิ้นสุดลงเมื่อ 13 พ.ค.

            กิจกรรมอื่น ๆ ที่เม็กซิโก ซิตี้จัดร่วมกับ World Design Organization ได้แก่ World Design Experience (16-29 เม.ษ.) การประชุม World Design Capital Network of Cities (เม.ษ.) และการสัมมนา World Design Capital International Design Week (10-14 ต.ค.)

 

ความตื่นตัวของไทยต่อ World Design Capital

         สำหรับประเทศไทยของเรา มีการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น World Design Capital ในปี 2022 โดยมีการจัด Bangkok Design Week 2018 หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2561” เมื่อวันที่ 27 ม.ค. - 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ในกรุงเทพมหานคร 5 พื้นที่ อันได้แก่ เจริญกรุง คลองสาน วงเวียน 22 พระราม 1 และสุขุมวิท ภายใต้แนวคิด “The New-ist Vibes ออกแบบไปข้างหน้า” เพื่อสะท้อนกรุงเทพฯใน 3 มิติ คือ อยู่ดี (city & living), กินดี (well being & gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (creative business) และสร้างพื้นที่แสดงศักยภาพของกรุงเทพฯ ผ่านการสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรมและพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งมีกิจกรรมภายในงานมากมาย เช่น  การจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์และนิทรรศการ กิจกรรมชุมนุมทางความคิดและทอล์ก กิจกรรมพัฒนาย่านสร้างสรรค์ กิจกรรมตลาดสร้างสรรค์  เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น นิทรรศการ ‘Waste Side Story Pavilion’ by PTTGC ที่นำพลาสติกมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าที่มีคุณค่า ตลาดปล่อยแสดงที่ ตลาดนัดที่จำหน่ายสินค้าดีไซน์ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงดนตรี และการฉายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ

 

                   

             

                                                               รูปภาพจาก http://m.bangkokdesignweek.com

 

          การผลักดันให้ไทยเป็น World Design Capital เป็นโอกาสที่ดีให้วงการออกแบบไทยได้พัฒนาฝีมือและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในหลายมิติมากขึ้น และจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าการออกแบบสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ทั้งจากบุคคลในพื้นที่และกลุ่มนักครีเอทีฟต่างชาติ ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของไทยอีกด้านหนึ่งให้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น และแม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Design Capital การตื่นตัวในวงการออกแบบนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของไทยที่จะพัฒนาเป็นสังคมแห่งความคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ต่อไปในอนาคต

********************************************

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้