การฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

การฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,514 view

การฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

          ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าวเรื่องนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ ที่สถานเอกอัคคราชทูตสหรัฐฯ จัดขึ้นเพื่อฉลอง 200 ปี แห่งมิตรภาพระหว่างสองประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวเรื่องทายาทแฝดสยามอิน-จันคืนถิ่นบรรพบุรุษที่จังหวัดสมุทรสงคราม ในโอกาสการฉลอง 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ หลายคนจึงอาจถามว่า ทำไมไทยกับสหรัฐฯ ถึงนับปีไม่ตรงกัน เหตุใดฝ่ายสหรัฐฯ จึงฉลอง 200 ปี ในขณะที่ฝ่ายไทยฉลอง 185 ปี

         อันที่จริง ไทยกับสหรัฐฯ ไม่ได้นับต่างกัน แต่เรากำลังพูดถึงคนละเหตุการณ์กัน ฝ่ายสหรัฐฯ ฉลอง 200 ปี แห่งมิตรภาพ ในขณะที่ฝ่ายไทยฉลอง 185 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูต หากจะเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องมาดูกันว่า 200 ปี เริ่มนับจากอะไร และ 185 ปี เริ่มนับจากอะไร

 

ว่าด้วยเรื่อง 185 ปี และ 200 ปี

         มิตรภาพไทย-สหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยที่สุดเมื่อ 200 ปีที่แล้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกัปตันสตีเฟน วิลเลียมส์ พ่อค้าชาวอเมริกันคนแรกที่เดินทางมาไทยในปี 2361 (ค.ศ. 1818) นอกจากจะขนสินค้าสำคัญจากสยาม คือ น้ำตาลกลับไปยังสหรัฐฯ แล้ว ยังได้นำจดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ไปมอบให้ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐฯ) อันถือเป็นการติดต่อกันครั้งแรกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

         การติดต่อดังกล่าวทำให้การค้าสองฝ่ายเพิ่มพูนขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนปืนคาบศิลาของสหรัฐฯ กับน้ำตาลของสยาม และนำไปสู่การทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในปี 2376 (ค.ศ. 1833) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสหรัฐฯ) ซึ่งทำให้สยามเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งครบรอบ 185 ปี ในปี 2561

         ดังนั้น เราจะเห็นว่า 200 ปี แห่งมิตรภาพ นับจากการติดต่อกันครั้งแรก ตามที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ จดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ปี 2361 ในขณะที่ 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต นับจากการทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์เมื่อปี 2376

                                                                     

                                            

ภาพบางส่วนของสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (ของจริงมีความยาวกว่า 3 เมตร) (รูปภาพจากเว็บไซต์ www.greatandgoodfriends.com)

 

ของขวัญแห่งมิตรภาพ

         ตั้งแต่แรกเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศได้มีความใกล้ชิดกันในระดับประมุข กล่าวคือ ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งความใกล้ชิดนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนด้วยการแลกเปลี่ยนของขวัญระหว่างประมุขของไทยกับสหรัฐฯ

         เพื่อฉลองการครบรอบ 200 ปี การติดต่อครั้งแรกระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในปี 2561 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้จัดนิทรรศการ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ” (Great and Good Friends) ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2561 โดยนำสิ่งของซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ มาจัดแสดง โดยเฉพาะภาพเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับที่ไม่เคยจัดแสดงต่อสาธารณชนมาก่อน และศิลปวัตถุล้ำค่าที่พระมหากษัตรยิ์ไทยได้พระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงของขวัญที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ไทย โดยมีสิ่งของที่นำมาจากสถาบันสมิธโซเนียน หอสมุดรัฐสภา และหอจดหมายเหตุแห่งชาติของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งของที่ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานไทย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า และหอภาพยนตร์แห่งชาติ

         นอกจากนี้ สิ่งของที่นำมาจัดแสดงหลายชิ้นยังมีเรื่องราวและเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ไทยและภาพถ่าย/ภาพเขียนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สองฝ่ายเคยแลกเปลี่ยนกัน สะท้อนถึงยุคสมัยที่สองประเทศติดต่อกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยพบเจอกัน จึงมีการแลกเปลี่ยนพระบรมฉายาลักษณ์/ภาพเขียน/ภาพถ่ายเพื่อให้อีกฝ่ายได้รู้จักพระพักต์/หน้าตาซึ่งกันและกัน  ชุดเครื่องถมทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ฝ่ายสหรัฐฯ หลังจากที่ได้จัดแสดงในงานนิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1876 ณ นครเพนซิลวาเนีย (เป็นงาน World Expo หรือ World’s Fair ยุคแรก ๆ และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว) และสำเนาสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็น 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ โปรตุเกส และจีน เนื่องจากในสมัยที่จัดทำสนธิสัญญาดังกล่าว ชาวอเมริกันยังไม่คุ้นเคยกับภาษาไทย และชาวสยามยังไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษมากนัก ในขณะที่ภาษาโปรตุเกสกับภาษาจีนเป็นภาษาที่มีอิทธิพลในการติดต่อระหว่างประเทศในตอนนั้น

         Great and Good Friend เป็นคำที่ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ใช้ขึ้นต้นจดหมายที่เขียนกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2405 เพื่อตอบขอบคุณที่พระองค์ได้พระราชทานของขวัญซึ่งแสดงถึงมิตรภาพต่อสหรัฐฯ จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการฯ ภาษาอังกฤษว่า Great and Good Friends Exhibition ซึ่งสะท้อนถึงไมตรีจิตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา โดยนิทรรศการฯ เล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ผ่านการแลกเปลี่ยนสาส์น/พระราชสาส์น การแลกเปลี่ยนของขวัญ และการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประมุขตั้งแต่ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

 

                                      

นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง (รูปภาพจากเว็บไซต์ www.greatandgoodfriends.com)

คนไทยเดินทางไปสหรัฐฯ

          นอกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประมุขของทั้งสองประเทศที่มีมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนก็เริ่มต้นในช่วงใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีคนไทยเดินทางไปสหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

          เมื่อพูดถึงแฝดสยามอิน-จัน คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักชื่อนี้ แต่สิ่งที่คนจำนวนมากอาจไม่เคยรู้ คือ แฝดสยามอิน-จัน เป็นชาวไทยคนแรกๆ ที่เดินทางไปยังสหรัฐฯ และบรรลุ “ความฝันอเมริกัน” อันหมายถึง หากใครก็ตามมีความขยันและมุมานะในการทำงาน คน ๆ นั้นก็สามารถประสบความสำเร็จในอเมริกาได้ ซึ่งอิน-จัน ได้ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะ ทั้งคู่เป็นเจ้าของไร่ฝ้าย (อุตสาหกรรมฝ้ายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน) ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา และได้ปักหลักสร้างครอบครัวอยู่ในสหรัฐฯ โดยทายาทของแฝดสยามอิน-จันยังคงอยู่ที่รัฐดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันและมีงานรวมญาติทุกปี ณ บ้านหลังที่อิน-จันเคยอาศัยอยู่

         การเดินทางของอิน-จันไปสหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่  1 เมษายน ค.ศ. 1829 (พ.ศ. 2372) พร้อมกับนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้า เดอะ ชาเคม ( The Sachem ) โดยใช้เวลาเดินทาง 138 วัน จึงถึงเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ และที่นี่เองที่คู่แฝดได้เปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก ก่อนจะออกเดินทางแสดงทั่วอเมริกาและยุโรป จนเมื่ออายุได้ 28 ปี ในปี ค.ศ.1839 (พ.ศ. 2382) ทั้งคู่ก็ได้ตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านแทรปฮิลล์ (Traphill) เมืองวิลคส์ เคาน์ที (Wilkes County) รัฐนอร์ธแคโรไลนา โดยได้ลงทุนซื้อที่ดิน 110 เอเคอร์ (ประมาณ 278.3 ไร่) และมีธุรกิจการเพาะปลูกที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนมากเป็นไร่ฝ้าย ต่อมาแฝดสยามฯ ได้ใช้นามสกุลบังเกอร์และได้รับสัญชาติอเมริกัน และแต่งงานกับพี่น้องชาวอเมริกัน โดยจันสมรสกับ น.ส.  Adelaide Yates และอินสมรสกับ น.ส. Sarah Ann Yates  แฝดสยามฯ มีลูกทั้งหมด 21 คน โดยจันมีบุตร 10 คนและอินมีบุตร 11 คน

          อิน-จันได้ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นต้นมา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) เมื่ออายุได้ 63 ปี ปัจจุบันทายาทของอิน-จันมากกว่า 1,500 คน ยังคงจัดกิจกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษเป็นประจำทุกปีด้วยความผูกพันและภูมิใจในความเป็นมาของบรรพบุรุษชาวไทยซึ่งเป็นแฝดสยามที่มีชื่อเสียงของโลก

          ปีนี้ (2561) คณะทายาทของแฝดสยามอิน-จัน จำนวน 14 คน ได้เดินทางมาเข้าร่วมโครงการ “ทายาทแฝดสยามอิน-จันคืนถิ่นบรรพบุรุษ” ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของแฝดสยามอิน-จัน ระหว่างวันที่ 6-13 พฤษภาคม 2561 เพื่อระลึกถึงแฝดสยามอิน-จัน ซึ่งถือเป็นบุคคลสัญลักษณ์ของการติดต่อระหว่างชาวไทยกับชาวอเมริกันในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ และกระชับความสัมพันธ์กับทายาทของอิน-จัน ซึ่งปัจจุบันได้เป็นกลุ่มมิตรของประเทศไทยที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ภาคประชาชนไทย-สหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

ความสัมพันธ์ภาคประชาชน

         จากยุคสมัยของอิน-จัน มาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยน ความร่วมมือ และมิตรภาพระหว่างสองประเทศ โดยในศตวรรษที่ 19 ช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่อิน-จันเดินทางไปสหรัฐฯ และสร้างชื่อเสียงโด่งดัง ก็มีชาวอเมริกันเดินทางมาไทยและสร้างชื่อเสียงเช่นกัน นั่นก็คือ นายแดน บีช แบรดลีย์ หรือที่คนไทยเรียกกันคุ้นหูว่า หมอบรัดเลย์ ซึ่งเดินทางมาไทยเมื่อปี ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) ในฐานะหมอสอนศาสนา และเป็นผู้นำการแพทย์แผนปัจจุบัน (แบบตะวันตก) เข้ามาหลายประการ เช่น การผ่าตัดและการใช้วัคซีน รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกการพิมพ์ในประเทศไทย

          ต่อมา ในศตวรรษที่ 20 ได้มีชาวอเมริกันคนอื่น ๆ ที่ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ไทย ตัวอย่างเช่น นายจิม ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและต่อมาได้เริ่มต้นทำธุรกิจผ้าไหมไทยในปี 2494 จนกลายมาเป็นผู้ผลิตผ้าไหมไทยที่โด่งดัง และนายสตีเฟน ยัง นักศึกษามานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้สะดุดล้มระหว่างเดินอยู่ในบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และพบว่าสิ่งที่สะดุดนั้นเป็นโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาในยุคหินใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ในการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

          การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนของสองประเทศในสองศตวรรษที่ผ่านมายังทำให้เกิดหลายปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น Thai Town บนถนนฮอลลีวูด ในนครลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด ร้านอาหารไทยที่สามารถพบได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ รวมถึงการที่คนไทยหรือลูกหลานของคนไทยประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ ในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ กีฬา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ฯลฯ

          ในโอกาสที่ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ 185 ปี ในปี 2561 กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อสะท้อนเรื่องราวดังกล่าว ชื่อ The Faces of Thais in the Relations of the Elephant and the Eagle เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ซึ่งมีทั้งบุคคลสำคัญของไทยและสหรัฐฯ ที่ดำเนินกิจกรรมหรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วม อาทิ ผู้แทนภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในสหรัฐฯ เช่น บริษัทไทยซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี ผู้ผลิตตัวถังรถยนต์ Tesla นายบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรชาวไทยคนแรกซึ่งได้รับเลือกให้อำนวยเพลงให้กับวงดนตรี New York Philharmonic Orchestra รศ.ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ด้านการศึกษา พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางจิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2532 นางสาวอัญชลี จงคดีกิจ ศิลปินชั้นนำของไทย และนางวิรดา นิราพาธพงศ์พร นักกอล์ฟอาชีพหญิง เป็นต้น และมีแขกเกียรติยศในงาน ได้แก่ คณะทายาทของแฝดสยามอิน-จัน

                              

                              

 

ภาพบรรยากาศงาน The Faces of Thais in the Relations of the Elephant and the Eagle

(รูปภาพจากกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้)

 

         อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นในปี 2561 ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ คือความร่วมมือด้านโบราณคดีเรื่องบ้านเชียง โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปศึกษาดูงานที่ Institute for Southeast Asia Archaeology (ISEAA) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย นครฟิลาเดลเฟีย และสถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561 และมีกำหนดจัดสัมมนาเกี่ยวกับสารสนเทศและความรู้ใหม่จากการวิจัยเรื่องโบราณคดีของบ้านเชียงในเดือนกันยายน 2561 ที่กรุงเทพฯ

          ความร่วมมือเรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมีจุดเริ่มต้นย้อนหลังกลับไปหลายสิบปี โดยหลังจากที่นายสตีเฟน ยัง ได้สะดุดเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ร่วมกันขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ในชื่อ “โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”  และต่อมาได้มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับการค้นพบโบราณวัตถุในบ้านเชียงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ และจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงเมื่อ พ.ศ. 2530 และต่อมาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2535 ในฐานะแหล่งอารยธรรมของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยเรื่องบ้านเชียงในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียยังคงศึกษาและวิเคราะห์เครื่องปั้นดินเผาที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงจัดทำแหล่งข้อมูลทางโบราณคดีเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ค้นพบในรูปแบบออนไลน์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงสู่สาธารณชน

 

มิตรภาพที่ยั่งยืน

          จากจดหมายปี 2361 และสนธิสัญญาปี 2376 มาจนถึงปัจจุบัน ครบ 200 ปี และ 185 ปี ตามลำดับกิจกรรมที่ฝ่ายไทยกับฝ่ายสหรัฐฯ จัดขึ้นตลอดปี 2561 ล้วนสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศ รวมถึงมิตรภาพและความใกล้ชิดทั้งในระดับผู้นำและระดับประชาชน และความตั้งใจของทุกฝ่ายที่จะส่งเสริมมิตรภาพที่ยั่งยืนในศตวรรษต่อไป

         

******************************************

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

 

แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย / กองอเมริกาเหนือ / จังหวัดสมุทรสงคราม / Institute for Southeast Asian Archaeology / www.jimthompson.com / Wikipedia