วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565
หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับทุน “ฟุลไบร์ท” หรือ Fulbright มากันบ้างแล้วว่าเป็นทุนมีชื่อเสียงซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี (ตั้งแต่ทศวรรษ 1950) และเป็นหนึ่งในความร่วมมือ ด้านการศึกษาและภาคประชาชนไทย – สหรัฐ ฯ ซึ่งมีผลเป็นรูปธรรม โดยศิษย์เก่าชาวไทยจำนวนมากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเป็นเป็นความฝันของหลายคนที่จะมีได้รับทุนนี้
วันนี้เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงการ Fulbright Thailand ให้มากขึ้น ผ่านมุมมองของคุณอิสราภรณ์ เศรษฐ์ธนันท์ หรือ คุณเกรซ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับทุน Fulbright ประจำปี 2560 กันครับ
คุณเกรซรู้จักทุน Fulbright ได้อย่างไร
ตอนที่เกรซเรียนปริญญาตรี ที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาได้แนะนำเกี่ยวกับทุน Fulbright โดยเป็นทุนไปศึกษาที่สหรัฐ ฯ ซึ่งไม่มีข้อผูกมัด ผู้ได้รับทุนสามารถเลือกศึกษาต่อในสาขาใดก็ได้ ยกเว้นสายการแพทย์ การสาธารณสุข หรือพยาบาล ทีได้ลงมือปฏิบัติจริง ไม่สามารถขอรับทุนได้ เนื่องจากประเด็นทางด้านกฎหมายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังไม่จำกัดอายุของผู้ได้รับทุนด้วยค่ะ
มูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน หรือ Fulbright Thailand บริหารโครงการ Fulbright ในไทยซึ่งมีทุนหลายประเภทค่ะ เช่น ทุนศึกษาต่อ ทุนวิจัย และทุนสำหรับอาจารย์ไทยไปสอนภาษาอังกฤษที่สหรัฐ ฯ ทุนที่เกรซได้รับ คือ Fulbright Thai Graduate Scholarship ซึ่งเป็นทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก โดยในปี 2560 มีผู้ได้รับทุนนี้ 7 คน ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น กฎหมาย สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ บริหารธุรกิจ วารสาร และเศรษฐศาสตร์ สำหรับเกรซ จะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านธรณีวิทยาค่ะ
แล้วขั้นตอนการสอบคัดเลือกเพื่อขอรับทุนมีขั้นตอนอะไรบ้าง
ในปีนี้ (2560) มีผู้สมัครขอรับทุน Fulbright Thai Graduate Scholarship ประมาณ 150 คนค่ะ ซึ่งในขั้นแรก ผู้สมัครต้องส่งเรียงความ 2 ฉบับ ได้แก่ Proposed Program Plan ซึ่งอธิบายว่าเราสนใจไปศึกษาต่อที่สหรัฐ ฯ ในด้านใด พร้อมเหตุผล ซึ่งเนื้อหาก็จะเน้นเชิงวิชาการค่ะ สำหรับเรียงความฉบับที่ 2 คือ ประวัติส่วนตัว เป็นในลักษณะของการบรรยายตัวเองค่ะ เช่น มีบุคลิกและอุปนิสัยอย่างไร มีความสนใจด้านใดบ้าง มีประสบการณ์อะไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถกำหนดได้เองค่ะว่า อยากนำเสนอตัวเองอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือประมาณ 30 คน เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการสัมภาษณ์มีทั้งชาวไทยและชาวอเมริกัน ซึ่งในปี 2560 คณะกรรมการได้คัดเลือกผู้สมควรได้รับทุน Fulbright Thai Graduate Schorlarship รวม 7 คน เพื่อให้ J. William Fulbright Foreign Schorlarship Board ที่สหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ
สิ่งหนึ่งที่เกรซประทับใจเกี่ยวกับโครงการ Fulbright คือ กิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้ได้รับทุน เช่น การนำผู้ได้รับทุนประจำปี 2560 ไปทัศนศึกษาที่ จ. แพร่ และน่าน ตามกิจกรรมว่า “รู้ รัก ราก เรา” เพื่อให้รู้ถึงวัฒนธรรมไทยและสามารถประชาสัมพันธ์ให้กับชาวอเมริกัน และเมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ แล้ว ทางโครงการ Fulbright จะจัดกิจกรรมให้กับผู้ได้รับทุน Fulbright จากทั่วโลก ได้ทำความรู้จักกันและสร้างเครือข่าย ซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างมากค่ะ
ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอะไรครับ
เกรซจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิชาธรณีวิทยา ที่ Oregon State University เกรซสนใจเป็นพิเศษที่จะศึกษาด้านแผ่นดินไหว และเกรซเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เพราะได้ติดต่อกับอาจารย์ชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของสหรัฐฯ เกรซจะเริ่มเรียนในช่วงเดือนกันยายน 2560 ซึ่งจะเป็นการเดินทางไปสหรัฐฯ ครั้งแรกอีกด้วยค่ะ
ทำไมถึงสนใจที่จะศึกษาต่อด้านแผ่นดินไหวครับ
เกรซเริ่มสนใจด้านแผ่นดินไหวตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ม. 5 ค่ะ โดยได้มีโอกาสทำโครงการด้านแผ่นดินไหวและสึนามิเพื่อนำเสนอผลงานที่ภาคใต้ซึ่งเป็นเคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฟังเป็นอย่างมาก
ต่อมาเกรซได้เรียนต่อระดับปริญญาตรี ในสาขาธรณีวิทยาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ศึกษาเกี่ยวกับหินและโครงสร้างกระบวนการต่าง ๆ ในธรรมชาติ ซึ่งช่วยส่งเสริมความรู้ด้านแผ่นดินไหว และต่อยอดไปถึงงานวิจัยที่สนใจในอนาคต เช่น การศึกษาถึงรอยเลื่อนต่าง ๆ ผ่านการใช้กล้องที่มีความละเอียดสูงและการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหว
เกรซมองว่า การศึกษาด้านแผ่นดินไหวจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศไทยในอนาคต เพราะจริง ๆ แล้ว หลายพื้นที่ในไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวเพราะมีรอยเลื่อนในชั้นเปลือกโลกและเนื้อโลก เช่น ภาคเหนือ ซึ่งแม้ปัจจุบัน เราสามารถคำนวณความเป็นไปได้ของการเกิดแผ่นดินไหว แต่ยังขาดความแม่นยำ นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยฉุกเฉินก็มีความสำคัญมาก โดยระบบเตือนภัยจะสามารถรักษาชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก เกรซจึงสนใจที่จะศึกษาต่อในด้านแผ่นดินไหว เพื่อนำต่อยอดความรู้ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยค่ะ
*****
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 คุณเกรซได้เป็นผู้แทนผู้รับทุน Fulbright ประจำปี 2560 กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรอง ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ว่า โครงการ Fulbright เป็นการมอบโอกาสการเรียนรู้และยังเป็นการเติมความฝันของคุณเกรซอีกด้วย ซึ่งคุณเกรซจะไปศึกษาต่อที่สหรัฐ ฯ เป็นเวลา 2 ปี และจะกลับมาทำงานที่ไทยหลังจากสำเร็จการศึกษา เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไทยในด้านแผ่นดินไหวต่อไป
เกี่ยวกับโครงการฟุลไบร์ท
โครงการฟุลไบรท์ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปี 2493 ภายใต้ชื่อ United States Educational Foundation in Thailand ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลไทยได้ลงนามในสัญญาฉบับใหม่ในปี 2506 และเปลี่ยนชื่อเป็น Thailand-United States Education Foundation (Fulbright) หรือมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของการเป็นมูลนิธิร่วมระหว่างสองประเทศ มูลนิธิฯ ยังเป็นที่รู้จักในนาม Fulbright Thailand
รัฐบาลไทยเริ่มจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการฟุลไบรท์ตั้งแต่ปี 2506 ปีละ 2 ล้านบาท ต่อมาใน ปี 2541 ได้เพิ่มเป็นปีละ 5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของงบประมาณทั้งหมดของมูลนิธิฯ และในปี 2551 รัฐบาลไทยได้เพิ่มทุนสนับสนุนมูลนิธิฯ จากปีละ 5 ล้านบาท เป็นปีละ 15 ล้านบาท (หรือประมาณ 450,000 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยสหรัฐฯ สนับสนุนปีละ 875,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งสิ้นปีละ 1,325,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 35:65 (ไทย: สหรัฐฯ)
ปัจจุบัน มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน บริหารทุนภายใต้โครงการฟุลไบร์ททั้งทุนสำหรับชาวไทยไปสหรัฐฯ และทุนสำหรับชาวสหรัฐฯ มาไทย ในแต่ละปีมีผู้ได้รับทุนชาวไทยและชาวสหรัฐฯ ปีละประมาณ 70 คน โครงการที่โดดเด่นที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยได้แก่ โครงการ English Teaching Assistantship (ETA) เป็นโครงการที่นำชาวสหรัฐฯ ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 20 คน มาสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนระดับมัธยมในต่างจังหวัดของไทยเป็นเวลา 1 ปี
ในปี 2560 มีผู้ได้รับทุนทั้งหมด 25 คน โดยแบ่งเป็นทุน Fulbright Thai Graduate Scholarship (Open Competition Scholarship Program – OC) 7 คน / ทุน Thai Visiting Scholar Program (TVS) 3 คน / ทุน Junior Research Scholarship Program (JRS) 3 คน / ทุน U.S.-ASEAN visiting Scholar Program (USAS) 1 คน / ทุน Hubert H. Humphrey Fellowship Program (HHH) 1 คน / ทุน Foreign Language Teaching Assistant Program (FLTA) 6 คน / ทุน Teaching Excellence and Achievement Program (TEA) 3 คน / และทุน Global Undergraduate Exchange Program (UGRAD) 4 คน
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ สามารถค้นหาจากเว็บไซต์ www.fulbrightthai.org
สัมภาษณ์โดย
นายวนรัตน์ จันทร์เพชร
เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยกลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)