วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ปัจจุบัน เรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่องในแวดวงการเมืองสหรัฐอเมริกา ก็คือบุคลิกและนโยบายของนายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ผู้กุมบังเหียนของหนึ่งในมหาอำนาจหลักของโลก ทำให้สิ่งใด ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำ ก็จะเป็นที่จับตามองทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ
ชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 2559 ของนายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ อภิมหาเศรษฐีและนักธุรกิจใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในแวดวงการเมืองเลย ถือเป็นเรื่องที่พลิกความคาดหมาย และหักปากกาสำนักข่าวหลายสำนักในสหรัฐอเมริกาที่ต่างเทคะแนนให้นางฮิลลารี่ คลินตัน คู่แข่งจากพรรคโดโมแครต เป็นผู้ชนะ ซึ่งภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ประกาศนโยบายและสิ่งที่ตนให้ความสำคัญหลายอย่างที่ขัดกับธรรมเนียมที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอื่น ๆ เคยทำมา
อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่มักถูกยกมาเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีทรัมป์ คือ นายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอเมริกา (ดำรงตำแหน่งปี 2524 – 2532) ซึ่งแม้จะเป็นการเปรียบเทียบเล่น ๆ สนุก ๆ และยังด่วนสรุปอะไรไม่ได้ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ก็เพิ่งเริ่มบริหารประเทศ แต่ในเบื้องต้นก็พอเห็นความเหมือนและความแตกต่างที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
ทั้งสองคนเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ที่เคยมีประวัติสังกัดพรรคเดโมแครตมาก่อน ทั้งสองสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ มีบรรพบุรุษที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากยุโรป โดยนายเรแกนมีบิดาที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไอร์แลนด์ และมารดาเป็นชาวอังกฤษ – สกอตแลนด์ ในขณะที่นายทรัมป์มีบิดาเป็นชาวเยอรมัน และมารดาเป็นชาวสกอตแลนด์ นอกจากนี้ บุคคลทั้งสองต่างมีภูมิหลังและประสบการณ์ในแวดวงสื่อสารมวลชนและบันเทิง โดยก่อนผันตัวเข้าส่งวงการเมือง นายเรแกนเป็นอดีตนักแสดงชื่อดัง เคยเป็นทั้งผู้ประกาศข่าวกีฬาทางวิทยุ และแสดงภาพยนตร์ ละคร และเป็นพิธีกร ซึ่งก็ได้นำประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้ในเวทีการเมืองอย่างได้ผล จนได้รับสมญานามว่า ‘the Great Communicator’ ในขณะที่นายทรัมป์ นอกจากจะเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่โด่งดังแล้ว ยังเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการสื่อ เป็นผู้ดำเนินรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังทางโทรทัศน์ คือ ‘The Apprentice’ รวมทั้งเคยเป็นนักแสดงรับเชิญในทั้งภาพยนตร์และละครชุด (ซีรีส์) ทางโทรทัศน์ของสหรัฐฯ และเป็นที่น่าสนใจเช่นกันว่าทั้งสองคนยังใช้คำขวัญในการหาเสียงที่คล้ายกัน โดยนายเรแกนรณรงค์ว่า ‘It is Morning Again in America’ ในขณะที่นายทรัมป์รณรงค์ว่า ‘Make America Great Again!’ ซึ่งสื่อความหมายของการฟื้นคืนความรุ่งเรืองและมั่งคั่งให้กับสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ทั้งสองยังเป็นประธานาธิบดีที่เข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุมาก (นายทรัมป์อายุ 70 ปี 7 เดือน และนายเรแกน 69 ปี 11 เดือน) ทั้งนี้ นายเรแกนยังเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่นายทรัมป์แสดงความชื่นชมว่าเป็น ‘great guy’ ในหนังสือ Great Again ของตน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งของทั้งสอง นายเรแกนได้รับคะแนนเลือกตั้ง (Electoral Vote) และคะแนนเสียง (Popular Vote) จากประชาชนสหรัฐอเมริกาอย่างท่วมท้น ในขณะที่นายทรัมป์ แม้จะได้รับชัยชนะในคะแนนเลือกตั้ง แต่ก็พ่ายแพ้นางคลินตันในคะแนนเสียงจากประชาชนอเมริกัน
แนวคิดหลัก ๆ ที่ประธานาธิบดีทั้งสองคนมีความคิดสอดคล้องกัน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ - ไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบาย / มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยควรให้กลไกตลาดเป็นตัวนำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้เพิ่มภาษีสำหรับกลุ่มคนรวย และควรเพิ่มการลงทุนภายในประเทศ โดยนายทรัมป์ถึงขั้นขู่จะใช้มาตรการเด็ดขาดกับบริษัทสหรัฐอเมริกาที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศ ด้านสังคม – ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งโดยเสรี และควรเพิ่มบทลงโทษด้านกฎหมายเพื่อลดอัตราการเกิดอาชญากรรมภายในประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อม – ไม่ให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว (green energy) มากนัก และเห็นว่ากฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดมากเกินไป นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ประกาศว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจาก Paris Agreement ซึ่งกำหนดพันธกรณีในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่นายเรแกนตัดลดงบประมาณขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในช่วงการดำรงตำแหน่ง ด้านงบประมาณ – ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านการทหารและการลดภาษี
อย่างไรก็ดี ทั้งสองคนมีแนวคิดที่แตกต่างกันชัดเจนในด้านการค้า โดยนายทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการค้าเสรีเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่นายเรแกนสนับสนุนการแพร่ขยายการค้าเสรี ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศ นายทรัมป์ประกาศหลักการว่า ไม่เห็นด้วยที่สหรัฐอเมริกาจะยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่น (foreign entanglement) และแบกรับภาระในการรักษาความสงบสุขและสันติภาพของโลก รวมทั้งควรผลักดันให้ประเทศพันธมิตรทั้งหลายของสหรัฐอเมริกาเพิ่มบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบกิจการภายในภูมิภาคของตนเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับนายเรแกน ที่มีนโยบายที่ส่งเสริมความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ ผลักดันการขยายกองกำลังทางเรือของสหรัฐฯ ให้มีมากถึง 600 ลำ เพื่อสำแดงแสนยานุภาพของสหรัฐฯ ในจุดสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก และชูให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำของโลกเสรี ในการแข่งขันกับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น
ที่ผ่านมา มรดก (legacy) ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถทิ้งไว้ ได้แก่ การมีวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมืองโลก ซึ่งปัจจุบันอดีตประธานาธิบดีเรแกนได้รับการชื่นชมและยกย่องว่า เป็นผู้ที่ฟื้นฟูสถานะความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเริ่มต้นของยุคใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันยังคงเป็นช่วงแรกเริ่มของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารประเทศในช่วง 100++ วันแรก ก็ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วทุกสารทิศ จึงคงต้องจับตามองต่อไปว่าประธานาธิบดีทรัมป์ที่ยกอดีตประธานาธิบดีเรแกนเป็นแบบอย่าง จะสามารถสร้างมรดกอะไรไว้ให้ชนรุ่นหลังชื่นชมหรือไม่ต่อไป
***************************
นางสาวภาวินี จันทร์สำราญ
นักการทูตชำนาญการ
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)