ลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกับการก้าวข้าม Middle Income Trap และการบรรลุ SDGs

ลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกับการก้าวข้าม Middle Income Trap และการบรรลุ SDGs

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,637 view

   ปัจจุบัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (Economic Commission for Latin America - ECLAC) ได้ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกาในปี 2560 ไว้เพียงแค่ 1.3% ประกอบกับการที่ภูมิภาคมีปริมาณการผลิตและมูลค่าการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสัญญาณที่แสดงถึงแนวโน้มของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ไม่น่าไว้วางใจ 

           ที่ประชุมประจำปี 2560 ของ ECLACที่กรุงเม็กซิโกได้กำหนดว่าประเด็นความท้าทายและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDG) เป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญ โดยนาง Alicia Barcena เลขาธิการ ECLAC ได้กล่าวว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเสี่ยงที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นความท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น ซึ่งหลังการประชุมดังกล่าว ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ต่างเห็นพ้องว่า ประเทศในภูมิภาคจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ โดยจะมุ่งเน้นสร้างพันธมิตรใหม่ ผลักดันการลงทุนในนวัตกรรม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างพันธมิตรใหม่ ก็รวมไปถึงการเข้ามามีความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มมีนโยบายปกป้องตลาดมากขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ อาทิ การที่กลุ่ม Pacific Alliance (เม็กซิโก ชิลี โคลอมเบีย เปรู) ได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอาเซียน โดยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กทุกปีในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
                                  

          จะเห็นได้ว่าภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประสบปัญหาคล้ายกับไทยในหลายประเด็น โดยเฉพาะปัญหาการติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่อาศัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางหลักในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน 

           ในขณะเดียวกัน ไทยได้ผลักดันการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SEP for SDGs) จึงนับได้ว่า ทั้งไทยและประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนต่างก็ตระหนักถึงปัญหาของการเป็นประเทศที่พยายามก้าวข้าม Middle Income Trap และในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาประเทศด้วย

           ถึงแม้ว่าไทยและลาตินอเมริกาและแคริบเบียนจะอยู่ห่างไกลกัน แต่ด้วยระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่ไทยและลาตินอเมริกาและแคริบเบียนจะขยายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ทั้งด้านการลงทุน วิชาการ และการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างกันโดยปัจจุบันมีกลไกในการหารือและส่งเสริม ความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค อาทิ เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation – FEALAC) โดยในปีนี้ เกาหลีใต้ในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายเอเชียตะวันออก จะจัด FEALAC Business Forum ครั้งที่ 3 ในเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจจากทั้งสองภูมิภาคจะได้พบหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน อันจะช่วยให้เอเชียตะวันออกรวมถึงไทยและลาตินอเมริกาและแคริบเบียนได้ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
                                     

 

                                                      ************************

ที่มา

- http://www.cepal.org/en/pressreleases/institutional-strengthening-and-financing-must-be-priorities-countries-fulfill-2030

- http://www.cepal.org/en/pressreleases/countries-latin-america-and-caribbean-reaffirmed-their-collective-commitment-2030

- http://www.cepal.org/en/pressreleases/alicia-barcena-region-faces-situational-and-structural-challenges-implementing-2030

- http://www.mfa.go.th/SEPforSDGs/APracticalApproachtowardSustainableDevelopment/A_Practi
cal_Approach_toward_Sustainable_Development.pdf

 

                                                                                                                                        โดย
                                                                                นายทสพล ลิปตพัลลภ นักการทูตปฏิบัติการ
                                                                            นางสาวมนรดา แย้มกสิกร นักการทูตปฏิบัติการ
                                                                              กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้