Working trip to Nauru

Working trip to Nauru

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565

| 1,304 view

         เมื่อระหว่าง 12-15 มีนาคม 2560 ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศ "นาอูรู" ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง หลายคนได้ยินประเทศนี้และอาจคิดภาพไม่ออกว่านาอูรูอยู่ตรงไหนของโลกเรา ดิฉันเลยอยากขอเกริ่นนำสั้นๆ ให้เห็นภาพก่อนเราจะไปทำความรู้จักกับนาอูรูมากขึ้น นาอูรูอยู่ในภูมิภาคแปซิฟิก โดยอยู่ไม่ไกลจากออสเตรเลียนัก แต่การเดินทางจากไทยไปนาอูรูก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากไม่มีเส้นทางบินตรงและมีข้อจำกัดด้านเที่ยวบิน การเดินทางไปนาอูรูครั้งนี้ ดิฉันใช้เส้นทาง “กรุงเทพฯ-บริสเบน-นาอูรู-บริสเบน-กรุงเทพฯ” ตอนแรกก่อนจะเดินทางไปนาอูรูก็คิดว่าประเทศจะเล็กขนาดนั้นเลยหรอ?!!?! แต่พอได้สัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ที่นาอูรูเป็นเวลา 4 วัน จึงชัดแจ้งว่านาอูรูนั้นเล็กจริงเพราะสามารถขับวันรอบประเทศได้ภายในประมาณ 25 นาที การเดินทางไปนาอูรูครั้งนี้ ดิฉันและคณะได้มีโอกาสเข้าพบพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์กับผู้แทน

จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ของนาอูรู อาทิ รัษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (Department of Foreign Affairs and Trade) ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม (Department of Commerce, Industry and Environment) ผู้อำนวยการด้านการประมงชายฝั่ง กระทรวงประมงและทรัพยากรทางทะเล (Fisheries and Marine Resources Authority) CEO ของ Nauru Utilities Corporation เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำนาอูรู และปลัดกระทรวงซึกษาธิการ (Department of Education) ซึ่งล้วนแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายไทยได้ทำความรู้จักและสร้างเครือข่ายการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ของนาอูรูเพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในอนาคต


        นาอูรูมีประชากรเพียงแค่ประมาณ 10,800 คน และเนื่องจากประเทศมีขนาดเล็ก จึงไม่แปลกที่เมืองจะค่อนข้างเงียบมากถึงมากที่สุด และเนื่องจากเป็นประเทศที่อากาศค่อนข้างร้อนและแห้งจึงไม่ค่อยเห็นผู้คนออกมาเดินเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ นาอูรูมีปัญหาน้ำและไฟชอบตก ติดๆ ดับๆ บ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากนาอูรูใช้ระบบ 'pre-paid' ในการซื้อไฟฟ้าและน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งได้นำไปสู่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเก็บน้ำ ปัจจุบัน นาอูรูได้รับถังน้ำจากออสเตรเลียและจีนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มคิดว่านาอูรูนี่ด้อยพัฒนามาตั้งแต่แรกเริ่มเลยหรือ ต้องขอบอกเลยว่า เมื่อก่อนนาอูรูเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยและสามารถช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ เนื่องจากมีสินค้าเศรษฐกิจโดดเด่นที่เรียกว่า 'ฟอสเฟต' ส่งออกเพื่อใช้ด้านเกษตรกรรม (ปุ๋ย) แต่เมื่อปริมาณฟอสเฟตถูกขุดในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้ประเทศร่ำรวยอย่างนาอูรูกลายเป็นประเทศลำบากเมื่อปริมาณฟอสเฟตลดน้อยลง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ออสเตรเลีย นอกจากนี้ พื้นดินของนาอูรูมีสภาพแห้งและเป็นหินจึงไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร เนื่องจากไม่สามารถทำการเกษตรได้ ชาวนาอูรูจึงต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอาหารกระป๋องสำเร็จรูป ซึ่งส่งผลให้ชาวนาอูรูประสบปัญหาด้านสุขภาพ เช่น มะเร็ง และโรคอ้วน เป็นต้น
         โดยรวมแล้วนาอูรูยังต้องการการพัฒนาอีกมาก ที่นี่มีโรงพยาบาล 1 โรง แต่!ไม่มีหมอ (ท่านอ่านถูกแล้วค่ะ “ไม่มีหมอ”) เนื่องจากหมอส่วนใหญ่จะมาจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ เช่น ปาปัวนิวกินี ตองกา ฟิจิ แต่จะมาแบบเป็นช่วง ๆ เท่านั้น เห็นนาอูรูเป็นประเทศเล็กๆ แบบนี้ แต่เค้าก็มีการจัดสรรบริการให้แก่ประชาชนระคะ   โดยหากชาวนาอูรูเจ็บป่วยสามารถรับการรักษาได้ฟรี แต่ถ้าใครที่ป่วยแบบโรคเฉพาะทาง เช่น มะเร็ง ก็จะถูกส่งไปรักษานอกประเทศ ซึ่งบางเคสก็เคยมาประเทศไทยด้วยค่ะ นอกจากรักษาฟรีแล้ว ชาวนาอูรูยังเรียนฟรีด้วยนะคะ แต่ปัญหาอยู่ที่การขาดแคลนของบุคลากรครู ดังนั้นครูส่วนใหญ่จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน       

         อ่อ! ลืมบอกไปว่าที่ประทับใจมากคือรันเวย์ที่สนามบินค่ะ ตอนวันแรกที่มาถึงเครื่องจะแลนด์ เค้าจะมีเจ้าหน้าที่มายืนถือป้าย "STOP" เพื่อส่งสัญญาณให้รถทุกชนิดหยุด เพราะเครื่องบินจะลงและพอเครื่องลงถึงพื้น รถถึงจะวิ่งปกติได้ นี่ก็เพราะว่าถนนหลักกะรันเวย์มันมีจุดแชร์กัน หากรถวิ่งตอนเครื่องลงเกรงว่าจะประสานงานกันได้ค่ะ เหตุผลที่ประทับใจไม่ใช่เพียงเพราะความแปลกของระบบการบริหารจัดการการจราจร แต่ประทับใจที่ประเทศเล็กๆ อย่างนาอูรูให้การเคารพกฎเกณฑ์เล็กๆน้อยๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่อย่างเคร่งครัด

                       
 โดย นางสาวพัชรสิริ ชลาลัย                                                                                        นักการทูตปฏิบัติการ    กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ 


 

 

 

                                         

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ