ไทย - แคนาดา

ไทย - แคนาดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,221 view

 ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย – แคนาดา

             ไทยและแคนาดามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและเป็นมิตรมายาวนาน (สองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2504)  โดยมีการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งในกรอบ   ทวิภาคีและพหุภาคีอย่างสร้างสรรค์และมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกมาก แคนาดามีจุดแข็งหลายด้านที่ไทยสามารถสร้างเสริมความร่วมมือเพื่อนำองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์มาประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและศักยภาพของบุคลากรได้ โดยเฉพาะการดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public-Private Partnership) ในการพัฒนาสาขาต่าง ๆ ที่มีความสนใจและผลประโยชน์ร่วมกัน นับตั้งแต่ด้านการค้าการลงทุน การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงาน สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมในสังคม ไปจนถึงด้านความมั่นคงและการร่วมกันแก้ไขปัญหาและความท้าทายระหว่างประเทศ

             ปัจจุบัน มีชาวแคนาดาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ประมาณ 6,000 คน และมีนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 244,000 คนต่อปี เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใช้จ่ายสูงและอยู่ระยะเวลานาน ในขณะที่มีชาวไทยอาศัยอยู่ในแคนาดาประมาณ 16,000 คน ตามเมืองใหญ่ อาทิ โทรอนโต มอนทรีออล และแวนคูเวอร์ ส่วนใหญ่ประกอบกิจการร้านอาหารไทย มีสมาคมไทย 9 แห่ง และวัดไทย 8 แห่ง นอกจากนี้ มีนักศึกษาไทยไปเรียนที่แคนาดาประมาณ 1,300 คน

ข้อมูลทั่วไป      

             แคนาดามีระบบการปกครองแบบ Federation มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นประมุขของรัฐ และนางจูลี พาแย็ต เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แคนาดาจะฉลองครบรอบ 150 ปี ในปี 2560 (วันชาติ 1 กรกฎาคม) แคนาดาจัดการเลือกตั้งทั่วไปทุก 4 ปี ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2558 พรรค Liberal ที่มีนายจัสติน ทรูโด เป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรค Conservative ซึ่งเป็นรัฐบาลติดต่อกันมา 3 สมัยก่อนหน้านี้ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นและสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก (184 จาก 338 ที่นั่ง) ได้อย่างเหนือความคาดหมาย คณะรัฐมนตรีของนายทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาคนที่ 23 ประกอบด้วยรัฐมนตรีชาย-หญิงจำนวนเท่ากัน (รวม 30 คน) และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ 18 คน มีนโยบายหลัก ได้แก่ การมุ่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือกับสหประชาชาติ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความหลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะความเท่าเทียมของสิทธิเยาวชนและสตรีและการปรับเปลี่ยนท่าทีให้เป็นที่ยอมรับในเวทีพหุภาคีมากขึ้น รวมถึงขยายโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (การค้าและการลงทุน) กับประเทศต่าง ๆ เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินแคนาดาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และแก้ปัญหาภาวะขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ

             ในแคนาดา ไทยมีสำนักงานที่มีผู้แทนทางการทูต 2 แห่ง ได้แก่ (1) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา มีเขตอาณาครอบคลุมจาเมกา เกรนาดา สาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก อีกทั้งเป็นจุดติดต่อของเซนต์ลูเซีย เครือรัฐบาฮามาส เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีสน์ แอนติกาและบาร์บูดา เครือรัฐโดมินิกา และบาร์เบโดสด้วย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เข้ารับหน้าที่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 และ (2) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ ดูแลรัฐด้านตะวันตกของแคนาดา ได้แก่ บริติชโคลัมเบีย แอลเบอร์ตา และยูคอน กงสุลใหญ่คนปัจจุบัน คือ นางสุทธิลักษณ์ สง่ามั่งคั่ง เข้ารับหน้าที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ในขณะที่แคนาดามีสำนักที่มีผู้แทนทางการทูต 1 แห่งในไทย ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมลาวและกัมพูชาด้วย ซึ่งมีสำนักงานที่มีผู้แทนทางการทูตภายใต้สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ที่เวียงจันทน์และกรุงพนมเปญ เอกอัครราชทูตแคนาดาฯ คนปัจจุบัน คือ นางโดนิกา พอตตี เข้ารับหน้าที่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559

            นอกจากนี้ ไทยมีกงสุลกิติมศักดิ์ในแคนาดา 3 แห่ง ได้แก่ นครมอนทรีออล (รัฐควิเบก) นครโทรอนโต (รัฐออนแทรีโอ) และนครเอดมันตัน (รัฐแอลเบอร์ตา) ในขณะที่แคนาดามีกงสุลกิติมศักดิ์ในไทย 1 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่

ด้านการเมือง                              

          ในช่วงปลายปี 2559 แคนาดาเริ่มส่งสัญญาณพร้อมจะเดินหน้าความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับไทยมากขึ้น มีการเดินทางเยือนไทยเพิ่มขึ้นของผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนระดับสูงของแคนาดา แคนาดาแสดงความมุ่งมั่นจะสานต่อพลวัตความสัมพันธ์และแสวงหาโอกาสขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทย ในขณะเดียวกัน ก็ขอรับการสนับสนุนจากไทยในเวทีระหว่างประเทศ การพบหารือและการเยือนระดับสูงในปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ได้แก่ (1)  Parliamentary Secretary ของรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา ด้านกิจการกงสุล เทียบเท่าผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ เดินทางเยือนไทย (2) Assistant Deputy Minister ด้านเอเชียแปซิฟิก เทียบเท่ารองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนไทย และ (3)  รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา พบหารือกับผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุม APEC Summit ที่กรุงลิมา นอกจากนั้น ไทยกับแคนาดามีแผนจะจัดการหารือระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (MFA Political Consultations) ครั้งแรก เพื่อเป็นกลไกในการหารือประเด็นที่มีความสนใจร่วมกันและแนวทางการขยายความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อีกทั้งหวังว่าฝ่ายแคนาดาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Thailand-Canada Business Meeting ครั้งที่ 2 ในโอกาสแรก หลังจากที่ไทยจัดการประชุมดังกล่าวครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจของไทยและแคนาดาเป็นอย่างมาก

ด้านเศรษฐกิจ   

          แคนาดามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก มีระบบการค้าเสรีที่พึ่งพาการส่งออก (ร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) รัฐบาลปัจจุบันสนใจนโยบายการเปิดเสรีกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้นและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เจาะตลาดอื่นนอกจากสหรัฐฯ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ป่าไม้ ทองคำ ข้าวสาลี ปุ๋ยโปแตส ถั่วเหลือง เยื่อกระดาษ อะลูมิเนียม นิกเกิล และทองแดง สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน รถยนต์ ทองคำ ก๊าซธรรมชาติ ไม้แปรรูป อากาศยาน ข้าวสาลี ปุ๋ย สารเคมี และเยื่อกระดาษ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ น้ำมัน ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า เวชภัณฑ์ และทองคำ

          แม้ว่าแคนาดาจะให้ความสำคัญเรื่องค่านิยมเป็นหลักในการกำหนดท่าทีและดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่รัฐบาลแคนาดาชุดปัจจุบันก็คำนึงถึงผลประโยชน์และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของแคนาดายังคงชะลอตัว สำหรับไทย โดยที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับแคนาดายังมีไม่มากนัก ไทยจึงอาจพิจารณาแสวงหาแนวทางขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาคเอกชนไทยกับแคนาดาเพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลทางอ้อมไปยังความสัมพันธ์ทางการเมืองและความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป

         ภูมิภาคที่ภาคเอกชนแคนาดานิยมไปลงทุน ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย-แปซิฟิก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) ลาตินอเมริกา การลงทุนสำคัญของแคนาดาในไทย ได้แก่ ธนาคารธนาชาต (ธนาคาร Nova Scotia ควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย) บริษัทดอยช้างเทรดดิ้ง จำกัด (นำเมล็ดกาแฟสดจากไทยไปคั่วในโรงงานที่แคนาดา บรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าคุณภาพสูง และจัดจำหน่ายในภูมิภาคอเมริกาเหนือ) บริษัท Celestica (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แหลมฉบัง) บริษัท Bombardier Transportation Signal (อุปกรณ์ส่งสัญญาณรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ) และบริษัท Magna Automotive (ชิ้นส่วนรถยนต์ที่จังหวัดชลบุรี) เป็นต้น ในขณะที่บริษัทไทยที่ประกอบธุรกิจในแคนาดา ได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (อาหารทะเล กุ้งล็อบสเตอร์สดและแปรรูป) เป็นต้น

        ในปี 2559 แคนาดาเป็นคู่ค้าลำดับที่ 30 ของไทย และมีปริมาณการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายนรวมมูลค่า 2,007.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 468.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันยังมีศักยภาพที่จะขยายได้อีกหากบริษัทเอกชนของทั้งสองฝ่ายมีโอกาสได้รู้จักและสร้างเครือข่ายระหว่างกันมากขึ้น โดยขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อเตรียมจัดการประชุมระหว่างภาคธุรกิจไทย-แคนาดา (Thailand-Canada Business Meeting) ครั้งที่ 2 ซึ่งแคนาดารับจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทนภาคเอกชนและการพัฒนาความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจที่สนใจร่วมกัน

        โดยพื้นฐานแล้ว แคนาดาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายด้าน ผู้บริโภคแคนาดามีกำลังซื้อสูงและมีประชากรเชื้อสายเอเชียในประเทศจำนวนมาก จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความสร้างสรรค์ในการออกแบบ นอกจากนี้ แคนาดายังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการธุรกิจที่ก้าวหน้าจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะหาทางขยายความร่วมมือกับแคนาดาในด้านการศึกษา เศรษฐกิจดิจิตัล ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และสาธารณสุข เป็นต้น ภาคเอกชนไทยและแคนาดาเห็นพ้องว่า ทั้งสองประเทศมีศักยภาพในด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก แต่มีข้อจำกัด คือ ยังรู้จักกันไม่ลึกซึ้งและความห่างไกลทางภูมิศาสตร์

ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สาธารณสุข และการศึกษา

        แคนาดามีจุดแข็งหลายด้านที่ไทยสามารถสร้างเสริมความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนและนำองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของไทยได้ อาทิ การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ธุรกิจรูปแบบใหม่ (startups) โดยแคนาดายังถือเป็นตัวแบบที่ดีของการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) ในการผลักดันการพัฒนาสาขาเหล่านี้ให้เกิดผลสำเร็จ ขณะที่ไทยมีความโดดเด่นและความเชี่ยวชาญที่จะร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแคนาดาในด้านการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ นอกจากความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันแล้ว ไทยยังมีศักยภาพเชื่อมโยงแคนาดากับประเทศอื่นในภูมิภาคได้ภายใต้ความร่วมมือไตรภาคี อีกทั้งไทยและแคนาดาก็สามารถเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงและการร่วมกันแก้ไขปัญหาความท้าทายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของสองฝ่ายได้ต่อไป

ไทยและแคนาดามีความร่วมมือครอบคลุมหลายด้านและมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายโครงการ อาทิ

(1) แคนาดาสนับสนุนการก่อตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ของไทย และยังคงมีการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับ TDRI อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการพัฒนาโครงการความร่วมมือใหม่ ๆ กับไทย เช่น ความร่วมมือภายใต้โครงการท้าทายแคนาดา (Grand Challenges Canada – GCC) ซึ่งรัฐบาลแคนาดาสนับสนุนงบประมาณทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยได้นำรูปแบบดังกล่าวมาพัฒนาเป็นโครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand)

(2) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของแคนาดาเดินทางเยือนไทยหลายคณะส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์ (fellowship) และการทำวิจัยร่วม นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ เช่น โครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัย McGill กับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

(3) การสนับสนุนให้เพิ่มการแลกเปลี่ยนระดับนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งนักเรียนทุนรัฐบาล โดยแคนาดายินดีต้อนรับนักเรียนและนักศึกษาจากไทย โดยแคนาดามีข้อได้เปรียบด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกอื่น และมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติ

(4) ในปี 2560 สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยได้หารือกับภาคเอกชนของไทยใน จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำต้นแบบการบริหารจัดการรูปแบบ Smart City มาประยุกต์ใช้ในไทย ซึ่งบริษัทที่มีกิจการด้านพลังงานสะอาดของไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมากและอยู่ระหว่างการประสานงานกับภาคธุรกิจของแคนาดา

 

**************************

กองอเมริกาเหนือ

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

เมษายน 2560