ไทย - อุรุกวัย

ไทย - อุรุกวัย

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 7,189 view

การเมือง

ไทยและสาธารณรัฐโอเรียนทัลอุรุกวัยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๙ (ครบรอบ ๔๘ ปี ในปี ๒๕๖๗) มีการแลกเปลี่ยนการเยือน อาทิ (๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินเยือนอุรุกวัยอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๓๙ และ (๒) นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ได้เยือนอุรุกวัยในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๔๙

เศรษฐกิจ

ในปี ๒๕๖๖ อุรุกวัยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๕ ของไทยในภูมิภาคฯ และอันดับที่ ๑๐๕ ของไทยในโลก โดยมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๑๐๐.๐๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังอุรุกวัย จำนวน ๓๓.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากอุรุกวัย จำนวน ๖๖.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเสียดุลการค้า จำนวน ๓๓.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปอุรุกวัย ได้แก่ (๑) เครื่องคอมพิวเตอร์ (๒) รถยนต์ (๓) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (๔) เม็ดพลาสติก และ (๕) ผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้านำเข้าของไทยจากอุรุกวัย ได้แก่ (๑) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (๒) ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (๓) เนื้อสัตว์ (๔) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และ (๕) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและอุรุกวัยมีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการของกระทรวงการต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Annual International Training Courses: AITC) ใน ๕ หัวข้อหลัก ได้แก่ (๑) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (๒) สาธารณสุข (๓) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (๔) ความมั่นคงทางอาหาร และ (๕) ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยในปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓ มีชาวอุรุกวัยเข้าร่วมหลักสูตร AITC จำนวน ๗ คน

ความร่วมมือด้านการศึกษา

ที่ผ่านมา มีการดำเนินโครงการนำนักวิชาการไทยไปอุรุกวัยและอาร์เจนตินาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนริเริ่มโครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนของอุรุกวัยและอาร์เจนตินา อาทิ Catholic University of Uruguay, University Torcuato Di Tella National University of La Plata และ International Business School of UCES

กรอบพหุภาคี

ไทยกับอุรุกวัยสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบ UN G77 องค์การการค้าโลก (WTO) เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation : FEALAC) และองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) และให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือระหว่างตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Southern Common Market: MERCOSUR) กับอาเซียน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ MERCOSUR ทำ FTA กับอาเซียนหรือเฉพาะกับไทย