ไทย - คิวบา

ไทย - คิวบา

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 3,013 view

๑. ภาพรวมความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับคิวบาเป็นไปอย่างราบรื่นและฉันมิตร ทั้งสองฝ่ายสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๑ (ครบรอบ ๖๖ ปี ในปี ๒๕๖๗) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก สหรัฐเม็กซิโก มีเขตอาณาครอบคลุมคิวบา และรัฐบาลไทยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงฮาวานา ขณะที่คิวบาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๗

๒. การเมือง

ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายโอกาสและมีความก้าวหน้าในความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ สาธารณสุขและการวิจัยทางการแพทย์ กีฬา และความร่วมมือด้านวิชาการ

เดิมทั้งสองฝ่ายเคยมีกลไกคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - คิวบา เป็นกลไกการหารือระดับทวิภาคี อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายใช้กลไกการหารือระหว่างกัน (Consultations) ทดแทนกลไกคณะกรรมาธิการร่วมฯ โดยได้มีการประชุมไปแล้ว ๒ ครั้ง ซึ่งล่าสุด ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖

๓. เศรษฐกิจ

ในปี ๒๕๖๖ ไทยกับคิวบามีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม ๖.๘๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๔๖.๘๔ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปคิวบา จำนวน ๔.๑๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากคิวบา จำนวน ๒.๗๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า จำนวน ๑.๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

สินค้าส่งออกของไทยไปคิวบา ได้แก่ (๑) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๒) ผลิตภัณฑ์ยาง (๓) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (๔) เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และ (๕) ข้าว

สินค้านำเข้าของไทยจากคิวบา ได้แก่ (๑) ผลิตภัณฑ์ยาสูบ (๒) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (๓) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (๔) เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา และ (๕) ผลิตภัณฑ์โลหะ

ในด้านการลงทุน ศูนย์ชีวโมเลกุล (Center of Molecular Biology) ของคิวบาและบริษัท CIMAB S.A. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลสาธารณรัฐคิวบา ได้ร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จัดตั้งบริษัท เอบินิส จำกัด (Abinis Co. Ltd.) เพื่อพัฒนาและผลิตยากลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง ต่อมน้ำเหลือง ข้ออักเสบเรื้อรัง และอาการแพ้ภูมิตัวเอง และยาชีววัตถุคล้ายคลึง โดยถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านชีวภาพและเวชภัณฑ์ของคิวบาให้ประเทศไทย

๔. ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยกับคิวบามีความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกันภายใต้ความตกลงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคิวบา ทั้งสองฝ่ายเคยจัดการประชุมความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกัน ๑ ครั้ง เมื่อปี ๒๕๕๘ โดยไทยสนใจเรียนรู้จากคิวบาในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ชุมชน

ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เดินทางเยือนคิวบา และได้หารือกับฝ่ายคิวบาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการพัฒนาชุมชน การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและประชุมออนไลน์ด้านสาธารณสุข และความร่วมมือด้านเกษตรกรรม

อนึ่ง ระหว่างปี ๒๕๖๘ - ๒๕๖๖ มีชาวคิวบาเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) จำนวน ๕ คน

๕. ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม

รัฐบาลคิวบาเคยมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยเพื่อไปศึกษาต่อที่คิวบาในสาขาต่าง ๆ อาทิ พลศึกษา ภาษาและวรรณคดีสเปน ตลอดจนส่งผู้ฝึกสอนกีฬามาฝึกสอนนักกีฬาไทยในสาขามวยสากลสมัครเล่นและวอลเลย์บอลที่ประเทศไทย

๖. ความร่วมมือพหุภาคี

ไทยกับคิวบาเป็นสมาชิกร่วมของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin America Cooperation: FEALAC) และกลุ่ม ๗๗ (G77) ซึ่งคิวบาเป็นประธานในปี ๒๕๖๖

นอกจากนี้ คิวบายังให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือและเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคิวบาประจำอาเซียนเมื่อปี ๒๕๕๖ และล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ คิวบาได้เข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ของอาเซียน และมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพและสาธารณสุขกับประเทศสมาชิกอาเซียน