ไทย - กายอานา

ไทย - กายอานา

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 เม.ย. 2567

| 1,414 view

ภาพรวมความสัมพันธ์

ประเทศไทยและสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น โดยทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๐ (ครบ ๓๗ ปี ในปี ๒๕๖๗) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานาประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

การเมือง

ประเทศไทยและสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานามีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงเป็นครั้งคราว อาทิ (๑) นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย เยือนสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา เมื่อปี ๒๕๔๕ (๒) นายกอบศักดิ์ ชุติกุล ผู้แทนพิเศษของไทย ได้พบหารือกับ Honourable Carl B. Greenidge รองประธานาธิบดี คนที่ ๒ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา เมื่อปี ๒๕๕๙ ทั้งนี้ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างกัน แต่มีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติและกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) รวมทั้งองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์

เศรษฐกิจ

ในปี ๒๕๖๖ สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานาเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๓ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยมีมูลค่าการค้าทั้งหมด ๒๘.๒๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๑๖.๐๙) ประกอบด้วย การส่งออกออกไปยังสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา จำนวน ๒๖.๖๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา จำนวน ๑.๖๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ไทยได้ดุลการค้า จำนวน ๒๔.๙๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา ได้แก่ (๑) ยานยนต์ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ (๒) ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำ (๓) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร (๔) เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (๕) เครื่องดื่ม สุรา และน้ำส้มสายชู

ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา ได้แก่ (๑) เหล็กและเหล็กกล้า (๒) ไข่มุก โลหะมีค่า (๓) อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม (๔) สัตว์มีชีวิต และ (๕) ไม้และของทำด้วยไม้ ถ่านไม้

ความร่วมมือทางวิชาการ

ระหว่างปี ๒๕๕๘-๒๕๖๖ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบทุนเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) ให้มีชาวกายอานา จำนวน ๓๒ คน ในสาขาหลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียง การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนเศรษฐกิจ Bio Circular Green (BCG) และการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ