ไทย - เม็กซิโก

ไทย - เม็กซิโก

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 6,108 view

๑. ภาพรวมความสัมพันธ์

ไทยกับเม็กซิโกมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและค่อนข้างใกล้ชิด โดยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๘ (ครบรอบ ๔๙ ปี ในปี ๒๕๖๗) ฝ่ายไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก และได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองกวาดาลาฮารา (Guadalajara) รัฐฮาลิสโก และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองมอนเตร์เรย์ (Monterrey) รัฐนวยโบเลออน ขณะที่ฝ่ายเม็กซิโกมีสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย รวมทั้งได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์เม็กซิโก ณ กรุงเทพมหานคร และกงสุลกิตติมศักดิ์เม็กซิโก ณ จังหวัดภูเก็ต

๒. การเมือง

ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและหารือทวิภาคีระดับสูงไม่บ่อยครั้ง และมีกลไกหารือทวิภาคีภายใต้การประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultations) โดยเม็กซิโกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ ๕ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖

เมื่อปี ๒๕๖๖ รัฐบาลไทยมอบเงินช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจำนวน ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐแก่เม็กซิโกเพื่อฟื้นฟูประเทศ หลังจากที่เม็กซิโกประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคน Otis เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖

๓. เศรษฐกิจ

เมื่อปี ๒๕๖๖ เม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ โดยมีมูลค่าการค้ารวม ๔,๖๒๖.๔๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๑๑.๑๓ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเม็กซิโก จำนวน ๓,๕๘๙.๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเม็กซิโก จำนวน ๑,๐๓๗.๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า จำนวน ๒,๕๕๒.๑๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปเม็กซิโก ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๓) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (๔) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ (๕) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

สินค้านำเข้าของไทยจากเม็กซิโก ได้แก่ (๑) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (๒) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (๓) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ (๔) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ (๕) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

ปัจจุบัน การลงทุนสำคัญของเม็กซิโกในไทยมี ๑ บริษัท ได้แก่ บริษัท Metalsa Thailand ซึ่งประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ในขณะที่การลงทุนสำคัญของไทยในเม็กซิโกมี ๔ บริษัท ได้แก่ (๑) บริษัท Indorama Ventures ประกอบกิจการผลิตเม็ดพลาสติก PET สำหรับนำไปผลิตขวดพลาสติก พลาสติกห่ออาหาร (๒) บริษัท Royal Interpack ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ทำจากเม็ดพลาสติก PET) สำหรับบรรจุอาหาร ผักและผลไม้ (๓) บริษัท Xolox ผลิตชิ้นส่วนโลหะประเภทอะลูมิเนียม เหล็กหล่อ เหล็กหลอม และผงโลหะ สำหรับนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนยานยนตร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ (๔) กลุ่มบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท. สผ.) จำกัด (มหาชน)

ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งหอการค้า ไทย - เม็กซิโก เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคเอกชน

๔. ความร่วมมือทางวิชาการ

ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กับหน่วยงานความร่วมมือของเม็กซิโก (AMEXCID) ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ไทย - เม็กซิโก และปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำร่างแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - เม็กซิโก ระยะ ๓ ปี

ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๖ มีชาวเม็กซิโกเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) ของกระทรวงการต่างประเทศ รวม ๔๘ คน

๕. ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม

ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านวัฒนธรรมตามความตกลงระหว่างไทยกับเม็กซิโกว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกัน

ชาวเม็กซิโก โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจวัฒนธรรมไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโกจึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ (๑) โครงการให้ผู้แสดงนำจากซีรีย์ไทยชื่อดัง “เพราะเราคู่กัน” ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมชาวเม็กซิโกและชาวลาตินอเมริกา เชิญชวนชาวเม็กซิโกเขียนความรู้สึกประทับใจเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคนและได้ช่วยเพิ่มความนิยมสินค้าไทยที่ปรากฏในซีรีย์ดังกล่าวด้วย (๒) การดำเนินกิจกรรมของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ร่วมกับวงดนตรี T-Pop (4MIX) ของไทย ระหว่างวันที่ ๑ - ๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ ในการจัดโครงการประกวดร้องเพลงไทย กิจกรรม Fan Meeting และการจัดแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงเม็กซิโก (๓) การส่งเสริมความนิยมไทยผ่านการสอนภาษาไทยในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก (๔) การแข่งขันทำอาหารไทยภายใต้กิจกรรม “Charm Thai: Thai Flavours in Mexico” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เป็นต้น

๖. ความร่วมมือพหุภาคี

ไทยและเม็กซิโกมีความร่วมมือพหุภาคี ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ สหประชาชาติ เอเปค เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation: FEALAC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) ซึ่งเม็กซิโกเป็นรัฐสมาชิกและไทยเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์

นอกจากนี้ เม็กซิโกอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) กับอาเซียน