ไทย - หมู่เกาะโซโลมอน

ไทย - หมู่เกาะโซโลมอน

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,337 view

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหมู่เกาะโซโลมอน

ไทยกับหมู่เกาะโซโลมอนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2529 โดยสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงแคนเบอร์รา มีเขตอาณาครอบคลุมหมู่เกาะโซโลมอน ส่วนหมู่เกาะโซโลมอนมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตหมู่เกาะโซโลมอน ณ กรุงแคนเบอร์รามีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย     ฝ่ายไทยเคยได้รับทราบข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตหมู่เกาะโซโลมอน ณ กรุงแคนเบอร์ราว่ามีร้านอาหารไทยในกรุงโฮนีอารา 1 ร้าน และมีคนไทยในหมู่เกาะโซโลมอนประมาณ 6 คน โดยส่วนมากทำงานก่อสร้างและทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ

ไทยและหมู่เกาะโซโลมอนเป็นมิตรประเทศต่อกันแม้ว่าความสัมพันธ์จะยังไม่ใกล้ชิดนัก ความร่วมมือระหว่างไทยกับหมู่เกาะโซโลมอนเป็นไปอย่างปกติ หมู่เกาะโซโลมอนมิได้มีการแถลงท่าทีต่อต้านเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย

ไทยอยู่ในฐานะผู้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับหมู่เกาะโซโลมอนและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก (PICS) 14 ประเทศผ่านความช่วยเหลือทางวิชาการภายใต้กรอบ Annual International Training Courses (AITC) ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งหมู่เกาะโซโลมอนสนใจร่วมมือพัฒนาบุคลากรกับไทย อาทิ การฝึกอบรมเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว เกษตร ประมง สาธารณสุข และ women empowerment ซึ่งไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคี และภูมิภาค ทั้งในกรอบ Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) และ Pacific Islands Forum (PIF) นอกจากนี้ ในปี 2550 ไทยได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่หมู่เกาะโซโลมอนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ

ผู้แทนหมู่เกาะโซโลมอนเข้าร่วมการประชุม TPIF ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2557 ได้แก่ Honorable Connelly Sandakabatu, Minister of Development, Planning and Aid Coordination และ Mr. Jeremiah Manele, Permanent Secretary, Ministry of Development, Planning and Aid Coordination แต่ไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม TPIF ครั้งที่ 2 ระหว่าง 30-31 พฤษภาคม 2558

ในระดับพหุภาคี หมู่เกาะโซโลมอนติดตามและให้ความสำคัญกับ UNCLOS การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน    การเข้าถึงพลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ (climate security) และการลดก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 16-20 มีนาคม 2560 กระทรวงได้ส่งผู้แทนจากกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ (กองแปซิฟิกใต้) เดินทางไปยังหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อศึกษาลู่ทางและโอกาสในการขยายความร่วมมือ ภายใต้ดำเนินโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะ ทั้งนี้ ได้มีการหารือระหว่างผู้แทนไทยกับผู้แทนจากหน่วยราชการต่าง ๆ ของหมู่เกาะโซโลมอน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศและการค้า กระทรวงประมงและทรัพยากรทางทะเล

ด้านการค้า

ในปี ๒๕๖๐ (ม.ค. – มี.ค.) มูลค่าการค้ารวม ๑๐.๐๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า ๒.๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ของเบ็ดเตล็ดทำด้วย โลหะสามัญ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) ) ไทยนำเข้า ๗.๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัตว์น้ำสด  แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ไม้ซุงและผลิตภัณฑ์) ไทยขาดดุลการค้า ๕.๘๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ      

หมู่เกาะโซโลมอนมีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภค ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของไทยในการส่งสินค้าไทยไปขายที่หมู่เกาะโซโลมอน โดยอาจพิจารณาใช้ปาปัวนิวกินีเป็นฐานในการกระจายสินค้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

ด้านการท่องเที่ยว

ในปี ๒๕๕๘ มีชาวหมู่เกาะโซโลมอนเดินทางเข้าประเทศไทย ๑๒๒ คน

ความร่วมมือต่างๆกับไทย และความตกลงที่คั่งค้าง

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ฝ่ายไทย (กรมประมง) ได้ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกันด้านประมงในรูปแบบของบันทึกความเข้าใจ (MoU) อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ยังรอการตอบรับจากฝ่ายโซโลมอน