ไทย - วานูอาตู

ไทย - วานูอาตู

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,379 view

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับวานูอาตู

      ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับวานูอาตู เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๕ โดยได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา มีเขตอาณาครอบคลุมวานูอาตู ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับวานูอาตูดำเนินไปด้วยดี และวานูอาตูมิได้มีการแถลงท่าทีต่อต้านเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยแต่อย่างใด นอกจากนี้  ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างบ้างบางโอกาส อาทิ ๑) เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นาย Moana Carcasses Kalosil นายกรัฐมนตรีวานูอาตู พบหารือกับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Water Summit ครั้งที่ ๒ ๒) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ นาย Meltek Sato Kilman Livtuvanu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าวานูอาตู พบหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น ๓) เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ ออท. ณ กรุงแคนเบอร์รา เดินทางไปถวายพระราชสาส์นต่อนาย Baldwin Lonsdale ประธานาธิบดีวานูอาตู ๔) เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙  น.ส. พัชรี พุ่มพชาติ รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ พบหารือกับนาย Bruno Leingkone Tau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศวานูอาตู ระหว่างเข้าร่วมการประชุม Post-Forum Dialogue (PFD) Meeting ครั้งที่ ๒๘ ณ เกาะโปนเป ประเทศไมโครนีเซีย ๕) เมื่อระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม ๒๕๖๐ นาย Joe Natuman รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐวานูอาตูเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ ๔ และได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างห้วงการประชุมดังกล่าว

      ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของนาย Baldwin Lonsdale ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐวานูอาตู รัฐบาลสาธารณรัฐวานูอาตูได้แต่งตั้งนาย Esmon Saimon ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสาธารณรัฐวานูอาตู ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีจนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายในสามสัปดาห์

      วานูอาตูประสงค์จะเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย โดยฝ่ายไทยได้อนุมัติการขอเปิดสถานเอกอัครราชทูตดังกล่าว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งวานูอาตูอยู่ระหว่างพิจารณาการแต่งตั้งอุปทูตประจำประเทศไทย

ด้านเศรษฐกิจ

      วานูอาตูมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ ๔ ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ มีลักษณะเศรษฐกิจเป็นแบบเกษตรเลี้ยงชีพ (เกษตรกรรมขนาดเล็ก) ต้องนำเข้าสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ประชากรร้อยละ ๖๕ ประกอบอาชีพประมง
ไทยนำเข้าปลาทูน่าสดจากวานูอาตูจำนวนมาก เพื่อป้อนอุตสาหกรรมในไทย

      การค้า ในปี ๒๕๕๙ มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ ๒๖.๙๕ ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า ๑๑.๓๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย) ไทยนำเข้ามูลค่า ๑๕.๕๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ) ไทยเสียดุลการค้า ๔.๒๑  ล้านดอลลาร์สหรัฐ

      การลงทุน ปัจจุบัน มีธุรกิจร้านอาหารไทยในกรุงพอร์ตวิลา  

ความช่วยเหลือทางวิชาการ

      ไทยให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับหมู่เกาะแปซิฟิก แม้ไทยมิใช่ผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่แก่วานูอาตู แต่ที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการภายใต้กรอบ Annual International Training Courses (AITC) จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ไทยได้บริจาคเงินให้แก่รัฐบาลวานูอาตูเพื่อบรรเทาผลกระทบจากพายุไซโคลนแพม เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ จำนวน ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

      เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ไทยกับวานูอาตูได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนา (MoU on Technical Cooperation and Development) โดยปัจจุบัน วานูอาตูประสงค์ขอรับความช่วยเหลือจากไทยในการพัฒนาพันธุ์ประมงน้ำจืด และการพัฒนากลุ่มสตรี (Bali Hai Women’s Tourism Centre) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ รัฐบาลวานูอาตูมีนโยบายที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Park) และประมงขอรับความช่วยเหลือจากไทยด้านวิชาการและงบประมาณ