การประชุมนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบรรยายพิเศษเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์

การประชุมนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบรรยายพิเศษเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 936 view
          เมื่อวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2560 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วม การประชุมนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ
การบรรยายพิเศษเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดโดย American Association for Advancement of Science (AAAS)
ที่กรุงวอชิงตันกิจกรรมทั้งสองในครั้งนี้มีดิฉันเป็นชาวไทยคนเดียวที่เข้าร่วม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูดอกซากุระผลิบานหรือ
ที่เรียกกันว่า “Cherry Blossom” ออกดอกสีชมพูขาวทั้งเมือง
 
          การประชุมแรกมีความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยรวบรวมนักวิทยาศาสตร์
ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้สนใจกว่า 500 คนจาก32 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นที่ Ronald Reagan Building and
International Centre ซึ่งเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการและการประชุมระหว่างประเทศ การประชุมมีลักษณะ panel
กล่าวคือในแต่ละประเด็น จะมีผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านดังกล่าวอภิปรายราว 3-4 คน ก่อนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วม
สอบถาม ทั้งนี้ ประเด็นที่ที่ประชุมอภิปรายมีความร่วมสมัยและเป็นจุดสนใจของประชาคมนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
อาทิงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาที่คาดว่าจะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลซึ่งในปีที่ผ่านมา หลังจากที่นายโดนัลด์
เจ ทรัมป์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณเรื่อยมาว่า
จะมีการตัดลดงบประมาณ แม้กระทั่งสำหรับงานวิจัยขั้นพื้นฐาน ที่อาจกระทบต่อฐานะผู้นำโลกด้าน วทน. ของสหรัฐฯ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐชายฝั่งต้องปรับตัว
และเตรียมพร้อมรับมือต่อการกัดเซาะโดยเฉพาะมลรัฐในแถบมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งผู้อภิปรายมีการนำเสนอตัวอย่าง
การดำเนินการของมลรัฐนอร์ธแคโรไลนา มลรัฐเซาท์แคโรไลนา มลรัฐฟลอริดา และมลรัฐเวอร์จิเนีย การรักษา
ความต่อเนื่องของนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานของรัฐ การเพิ่มขึ้นของตัวแสดงที่มิใช่รัฐ เช่น NGOs
และองค์การสาธารณกุศล ในการดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์ โลกาภิวัฒน์หรือโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นและ
การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกกับมนุษย์ทำให้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
มากขึ้น และบทบาทของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพิสูจน์และหาหลักฐานมาอ้างอิงคำกล่าวชักจูง
ผู้กำหนดนโยบายให้คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับตน หรือการระดมทุนจากองค์กรสาธารณกุศลหรือบริษัทรายใหญ่
เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของตน
 
           สำหรับอีกกิจกรรม ได้แก่ การบรรยายพิเศษเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์ เป็นการประชุมปิดที่จำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 300 คน
จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ AAAS ซึ่งเป็น Green Building หรืออาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้รับรางวัล LEEDGold
เมื่อปี 2552 และ LEED Platinum เมื่อปี 2556 จาก U.S. Green Building Council วิทยากรส่วนใหญ่ในการบรรยายนี้
เป็นผู้ดำเนินการด้านการทูตวิทยาศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ โดยประเด็นหลัก ๆ ของการบรรยายเกี่ยวข้องกับการพัฒนา
นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การทูตสาธารณสุขโลก
เพื่อจัดการความท้าทาย จากโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่ที่คร่าชีวิตประชาชนจำนวนมากและส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและ
สังคมของประเทศที่พบการระบาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ความมั่นคงด้านไซเบอร์ที่เน้นให้เห็นว่าการที่ชีวิตของ
มนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่จำกัดระยะทาง และดำเนินธุรกรรมได้เพียงแค่ปลายนิ้ว
แต่อาจเป็นช่องทางให้กลุ่มอาชญากรรมเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน กฎหมายหรือกฎระเบียบยังไม่พัฒนา
ไปป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้นและการสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย
โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน การป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากประเทศในทวีป
อเมริกากลางและละตินอเมริกาโดยใช้เม็กซิโกเป็นฐานไปยังสหรัฐฯ และ การปกป้องตำแหน่งงานในประเทศ ในขณะที่
หลายฝ่ายมองว่าอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก นอกจากนั้นอาจเป็นการเปิดประเด็นให้มี
การดำเนินมาตรการด้านอื่นของสหรัฐฯ ต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การทบทวนเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า)
การใช้มาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
 
           การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ของดิฉันได้เปิดมุมมองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับการต่างประเทศ โดยยัง
เป็นโอกาสให้ดิฉันได้ปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายกับผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ปัจจุบัน
การดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือการทูตมีหลากหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและ
รักษาสถานะศักดิ์ศรีของประเทศในเวทีโลก ในปัจจุบัน วทน. ได้ทวีบทบาทมากขึ้นและสามารถตอบสนองนโยบายหลักของ
รัฐบาลที่ต้องการให้ไทยยกสถานะเป็นประเทศรายได้สูงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ เป็นผู้นำด้าน วทน.
ของอนุภูมิภาคและภูมิภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ สมดังคำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประเทศไทย ‘เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน’และไม่ทิ้งใครอยู่เบื้องหลัง
 
                                                ******************************************************

 

                                                                                                                       โดย นางสาวภาวินี จันทร์สำราญ
                                                                                                                        นักการทูตชำนาญการ
                                                                                                                        กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
                                                                                                                        กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ