การผลิตแร่ลิเทียมในชิลี

การผลิตแร่ลิเทียมในชิลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,227 view

           บริษัท SQM (Sociedad Química y Minera de Chile) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตแร่ลิเทียมรายใหญ่ของชิลี ประกาศว่า จะขยายกำลังการผลิตแร่ลิเทียมจากเดิม ๗๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี เป็น๑๒๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี และ ๑๖๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี ภายในปี ๒๕๖๔ และ ๒๕๖๖ ตามลำดับ โดยบริษัท SQM ได้สร้างโรงงานผลิตแร่ลิเทียมซึ่งมีกำลังการผลิต ๘,๐๐๐ เมตริกตันจำนวน ๒ แห่ง เพื่อเพิ่ม กำลังการผลิตเป็น ๑๓,๕๐๐ เมตริกตันต่อปี รวมทั้งมีความร่วมมือกับบริษัท Mount Holland จากออสเตรเลียที่มีกำลังการผลิต ๔๕,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี แผนงานข้างต้นของบริษัท SQM จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาสัดส่วนในตลาดแร่ลิเทียมได้มากขึ้นเพื่อรองรับต่อความต้องการแร่ลิเทียมจำนวนมากในตลาดโลกหลังจากที่บริษัทประสบกับปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

บ่อเกลือจากเหมืองลิเทียมในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี // ที่มาภาพ : Reuters/Ivan Alvarado        

                

          ถึงแม้ว่าชิลีเป็นประเทศที่มีทรัพยากรลิเทียมมากที่สุดในโลก แต่เนื่องจากชิลีมีปัญหาขาดกฎระเบียบที่ชัดเจนในเรื่องการควบคุมการทำเหมืองแร่ลิเทียม ขาดสิ่งจูงใจในการลงทุน รวมถึงมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ลิเทียมและแรงต่อต้านจากชนพื้นเมืองในพื้นที่ ทำให้ชิลีกำลังสูญเสียตลาดการผลิตแร่ลิเทียมให้แก่ประเทศคู่แข่ง เช่น ออสเตรเลียและอาร์เจนตินา โดยที่ผ่านมา บริษัทที่ได้รับสัมปทานในการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีลิเทียม ๓ แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทของชิลี จีน และเกาหลีใต้ ได้ขอยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวเพราะรัฐบาลชิลีไม่สามารถประกันราคาแร่ลิเทียมตามที่ได้ตกลงไว้ได้

 

เหมืองขุดแร่ลิเทียมของบริษัท SQM ที่ทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี // ที่มาภาพ : Forbes/Edward Burtynsky

 

           ยิ่งกว่านั้น โดยที่การทำเหมืองแร่ลิเทียมจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมากในกระบวนการสกัดสินแร่ ขณะที่ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ทำเหมืองแร่ลิเทียมมีจำกัด กอปรกับในปี ๒๕๖๒ ชิลีเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยองค์การป่าแห่งชาติของชิลี (CONAF) ระบุว่า พื้นที่กว่าร้อยละ ๗๖ ของชิลีประสบปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ลิเทียมต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลศึกษาการทำเหมืองแร่ลิเทียมอย่างยั่งยืนในบ่อเกลือในทะเลทราย Atacama ทางตอนเหนือของชิลีซึ่งเป็นแหล่งแร่ลิเทียมคุณภาพสูงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของบริษัทผลิตรถยนต์ Volkswagen และ Daimler แสดงให้เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวรู้สึกห่วงกังวลอย่างมากกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการทำเหมืองแร่ลิเทียม นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าในปี ๒๕๖๒ ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สืบเนื่องจากการทำเหมืองแร่ลิเทียมโดยการขนส่งน้ำจากภูมิภาค Bío-Bío ทางตอนใต้ไปยังภูมิภาค Atacama ทางตอนเหนือของชิลี แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและถูกยกเลิกไปในที่สุด

 

**********

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ