ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.พ. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,406 view

            เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 พรรคเดโมแครต (Democratic Party) ได้จัดการประชุมให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระบบ Caucus ที่รัฐเนวาดา (ภายหลังที่ได้มีการจัด caucus ที่รัฐไอโอวา และ primary ที่รัฐนิวแฮมพ์เชอร์ เมื่อวันที่ 3 และ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ตามลําดับ) เพื่อคัดเลือกตัวแทนของพรรคฯ ลงแข่งขันดํารงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่สำคัญของการรณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครตในปีนี้  คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

 

นาย Bernie Sanders และนาง Elizabeth Warren // รูป : Lucas Jackson/Reuters

 

            ผู้สมัครสําคัญของพรรคเดโมแครตอย่างนาย Bernie Sanders และนาง Elizabeth Warren ต่างเน้นผลักดันนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในการรณรงค์หาเสียง โดยสนับสนุนนโยบายเก็บภาษีเพิ่มจากกลุ่มที่มีรายได้สูง ต่อยอดกฎหมายประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” (Obamacare) โดยสนับสนุนนโยบาย “Medicare for all” ให้ประชาชนได้รับสวัสดิการสาธารณสุขอย่างครบถ้วนและอย่างเท่าเทียมกันด้วยระบบกองทุนสุขภาพรายเดียว (Single-payer) ตลอดจนยกเลิกหนี้ทางการศึกษา (student loans) ซึ่งเป็นหนึ่ง ในนโยบายหลักของทั้งนาย Joe Biden และนาย Pete Buttigieg อีกสองผู้ท้าชิงของพรรคเดโมแครตด้วย

 

นาย Pete Buttigieg และนาย Joe Biden // รูป : https://www.abc.net.au/news/2019-06-28/pete-buttigieg-and-joe-biden-1/11262324

 

            ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เป็นปัญหาใหญ่ที่มีมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1970 จนถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนอเมริกันร้อยละ 1 ที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ร้อยละ 20 ของรายได้รวมทั้งหมดของประเทศ [1] ส่วนการกระจายความมั่งคั่งรายได้สุทธิ (net worth) “กลุ่มคนร้อยละ 1” ดังกล่าว ครองทรัพย์สินรวมกันเกือบร้อยละ 40 ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ทําให้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากที่สุด นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงสำหรับแรงงานในสหรัฐฯ ที่ปรับเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน (25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง) มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2507 ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สุทธิสูงในระดับร้อยละ 10 (ประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีขึ้นไป) ครองหุ้นถึงร้อยละ 51 จากจำนวนหุ้นทั้งหมดในประเทศ (มูลค่าหุ้นเฉลี่ย 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้สุทธิในระดับที่ต่ำสุด (ต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี) ครองหุ้นเพียงแค่ร้อยละ 2 (มูลค่าหุ้นเฉลี่ยเพียง 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ) [2]     

 

            ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการรณรงค์หาเสียงของ แต่ละพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2563 โดยที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตมักจะให้ความสําคัญกับประเด็นดังกล่าวมากกว่าพรรครีพับลิกัน แต่พรรครีพับลิกันเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเริ่มให้ความสําคัญกับประเด็นดังกล่าวมาก และจะเป็นฐานเสียงสําคัญในการเลือกตั้งปลายปีนี้ด้วย

*********************

 

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

กุมภาพันธ์ 2563

 


[1] เมื่อปี 2562 สนข. Bloomberg ระบุรายได้เฉลี่ยของผู้มีรายได้สูงสุด (Top 1% Earners) ในสหรัฐฯ คือ 421,926 ดอลลาร์สหรัฐ (รายได้เฉลี่ยทางครัวเรือนของประเทศคือ 61,372 ดอลลาร์สหรัฐ)

[2] ข้อมูลจาก Business Insider

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ