สาธารณรัฐเปรู

สาธารณรัฐเปรู

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ต.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,700 view

 

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับประเทศเปรูให้มากขึ้น ด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับประเทศเปรู 10 ข้อ

 

 

มาชูปิกชู (Machu Picchu) หรือเมืองสาบสูญแห่งอินคา เป็นซากเมืองโบราณของอารยธรรมอินคาตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 2,430 เมตร บริเวณเทือกเขาแอนดีสทางตอนใต้ของประเทศเปรู เชื่อกันว่าเมืองนี้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 15 และกลายเป็นเมืองสาบสูญเมื่อช่วงศตวรรษที่ 16

มาชูปิกชูเป็นมรดกสำคัญของอารยธรรมอินคา โดดเด่นเรื่องทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงามและการวางผังเมืองที่น่าสนใจ ทั้งการวางระบบน้ำและการวางผังเกษตรกรรม รวมถึงสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ศาสนา และดาราศาสตร์ จนได้รับเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลกแบบผสมโดยองค์การ UNESCO เมื่อปี ค.ศ. 1983 และได้รับเลือกให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่เมื่อปี ค.ศ. 2007

 

 

คอลก้า แคนยอน (Colca Canyon) เป็นแคนยอนที่ลึกที่สุดในโลก มีความลึกถึง 4,160 เมตร เกิดจากการไหลผ่านและการกัดเซาะของแม่น้ำคอลก้าที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเปรู 

คอลก้า แคนยอน ยังเป็นถิ่นอาศัยของแร้งคอนดอร์แอนดีส นกล่าเหยื่อและนกบินได้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีช่วงลำตัวประมาณ 1.2 เมตร และมีช่วงปีกที่กางได้มากถึง 3 เมตร 

 

 

เหมืองเกลือมาราส (Maras Salt Mines) เป็นเหมืองเกลือเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนสมัยจักรวรรดิอินคา สันนิษฐานกันว่า เริ่มแรกมีการขุดบ่อน้ำเกลือเพียงไม่กี่บ่อ และต่อมาชาวอินคาได้พัฒนาระบบเหมืองเกลือให้กลายเป็นบ่อเกลือแบบขั้นบันไดเรียงตามไหล่เขาจำนวนหลายพันบ่อ ที่มีทางน้ำเชื่อมถึงกัน

เหมืองเกลือมาราส อยู่ห่างจากตอนเหนือของเมืองกุสโกประมาณ 40 กิโลเมตร และอยู่ภายใต้การดูแลของชุมชุนมาราส การผลิตเกลือที่นี่ทุกขั้นตอนยังคงใช้การผลิตด้วยแรงงานมนุษย์แบบดั้งเดิม เพื่อรักษาความสะอาดและความศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีของชาวอินคา ซึ่งเกลือที่ผลิตจากเหมืองมาราสในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ ดอกเกลือทะเล หรือเกลือบริสุทธิ์ เกลือสีน้ำตาล สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และเกลือสีชมพู ซึ่งเป็นเกลือที่ดีต่อสุขภาพและได้รับความนิยมสูง เพราะมีแร่ธาตุหลายชนิดผสมอยู่

 

 

ภูเขาสายรุ้ง หรือภูเขา Apu Winicunca เป็นภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคาที่มีการทับถมของทรายแดงและแร่ธาตุต่าง ๆ นับหลายล้านปี จนทำให้เกิดภูเขาที่มีสีสันสดใสคล้ายสายรุ้ง 

นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินเทรคกิ้งขึ้นไปเยี่ยมชมความสวยงามที่ระดับความสูงกว่า 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลได้ โดยใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือจะขี่ม้าขึ้นไปโดยมีชาวบ้านจูงให้ก็ได้

 

 

อัลปาก้า เป็นสัตว์วงศ์อูฐที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเทือกเขาแอนดีส พบได้ทางตอนใต้ของเปรู ทางตะวันตกของโบลิเวีย เอกวาดอร์ และทางตอนเหนือของชิลี โดยในอดีตขนอัลปาก้าเคยใช้เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคมในอารยธรรมอินคา เพราะแม้จะพบอัลปาก้าได้มากในแถบนี้ แต่ก็มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่สวมใส่เสื้อผ้าขนอัลปาก้าได้ เนื่องจากเป็นเส้นใยผ้าที่มีคุณภาพสูง มีลักษณะอ่อนนุ่ม น้ำหนักเบา แข็งแรง ให้ความอบอุ่นได้ดี และมีสีธรรมชาติมากถึง 22 สี 

ปัจจุบันเปรูเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเส้นใยจากขนอัลปาก้า และเป็นถิ่นอาศัยของอัลปาก้าร้อยละ 80 ของอัลปาก้าทั่วโลก โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศอย่างเมืองปูโน กุซโก และอารีกุยปา นอกจากนี้ ชาวเปรูยังมีวันอัลปาก้า ซึ่งจะเฉลิมฉลองวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เพื่อสนับสนุนให้บริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์จากอัลปาก้า โดยมีการจัดงานรื่นเริง พาเหรด
อัลปาก้า การแข่งขันอัลปาก้า และการทอเส้นใยจากขนอัลปาก้าในเมืองต่าง ๆ
 
 
เส้นนัซกา (Nazca Lines) คือลายเส้นโบราณลึกลับที่มีขนาดใหญ่กว่า 500 ตารางกิโลเมตร ปรากฏอยู่ในทะเลทรายนัซกา เกิดจากการขุดเอาหินทรายชั้นสีเข้มออกเพื่อให้เห็นพื้นผิวดินชั้นในที่มีสีอ่อนกว่า หากมองจากมุมสูงจะเห็นเป็นรูปวาดมนุษย์ รูปสัตว์ และรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ กว่า 300 ภาพ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้สร้างเป็นใคร แต่สันนิษฐานกันว่าเป็นฝีมือของชาวนัซกาโบราณ เมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้ว โดยเส้นนัซกาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก
างวัฒนธรรม เมื่อปี ค.ศ. 1994
 
 
มันฝรั่งมีต้นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของเปรูและทางตะวันตกเฉียงเหนือของโบลิเวีย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามนุษย์เริ่มเพาะปลูกมันฝรั่งมาตั้งแต่ประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว และจำนวนสายพันธุ์มันฝรั่งที่ปลูกในแถบเทือกเขาแอนดีสมีมากกว่า 4,000 สายพันธุ์ ซึ่งชาวสเปนเป็นผู้นำมันฝรั่งเข้ามาในยุโรปครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 16 และใช้เวลาหลายร้อยปีกว่ามันฝรั่งจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างในทวีปยุโรป โดยชาวยุโรปเริ่มยอมรับและเพาะปลูกมันฝรั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 และเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันมันฝรั่งกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหารทั่วโลก
 
 
ชาวเปรูมีวัฒนธรรมการทานหนูตะเภาทั้งตัว (Cuy) มามากกว่า 5,000 ปี ทั้งเมนูปิ้ง ย่าง อบ และทอด ในอดีตชาวเปรูจะทานเมนูหนูตะเภาเฉพาะช่วงเทศกาลพิเศษ แต่ปัจจุบันเป็นเมนูที่นิยมกันโดยทั่วไป เนื่องจากเนื้อหนูตะเภามีโปรตีนสูงกว่า และคอเลสเตอรอลต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ 

นอกจากนี้ ยังมีการเฉลิมฉลองวันหนูตะเภาแห่งชาติทุกวันศุกร์ที่สองของเดือนตุลาคม เพื่อคำนึงถึงความสำคัญของการเลี้ยงหนูตะเภาในเชิงเศรษฐกิจ และเรื่องความปลอดภัยในอาหาร รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการของหนูตะเภา โดยในวันนี้จะมีการปรุงเมนูหนูตะเภาหลากหลายเมนูตามสถานที่ต่าง ๆ มีการประกวดสายพันธุ์หนูตะเภา การให้ความรู้เกี่ยวข้องกับหนูตะเภาและกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

 

 

เซบิเช (Ceviche) เป็นอาหารประจำชาติของประเทศเปรู เดิมเป็นอาหารจานหลักของกลุ่มชนพื้นเมือง Moche ที่ตกปลาอยู่ทางเหนือของเปรูเมื่อ 2000 ปีก่อน เซบิเชมีลักษณะคล้ายยำปลาดิบของไทย โดยเน้นรสชาติเปรี้ยวจากมะนาว ปรุงด้วยเครื่องเทศสไตล์เปรูอย่างหอมใหญ่ พริก ผักชี และโรยด้วยข้าวโพดต้ม เสิร์ฟพร้อมกับมันฝรั่งต้มชิ้นใหญ่ หรืออาจเปลี่ยนจากปลาดิบเป็นอาหารทะเลชนิดอื่นก็ได้

 

 

ฉิฟา (Chifa) เป็นอาหารฟิวชันที่ผสมระหว่างอาหารเปรูและอาหารจีน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแรงงานชาวจีนที่อพยพเข้ามาในเปรูเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันร้านอาหารฉิฟาได้รับความนิยมมากในเปรู และพบได้ตามทั่วทุกมุมถนน

อาหารฉิฟาที่น่าสนใจ คือ อาโรซ เฉาฟา (Arroz Chaufa) ข้าวผัดที่ใช้เครื่องปรุงแบบเปรู แต่ใช้เทคนิคการผัดแบบจีน และ โลโม ซัลตาโด้ (Lomo Saltado) ผัดเนื้อแบบดั้งเดิมของเปรู โดยผัดกับเครื่องปรุงท้องถิ่น เช่น หอมใหญ่ มะเขือเทศ ซอสถัวเหลือง และเสิร์ฟพร้อมเฟรนช์ฟรายส์กับข้าวสวยร้อน ๆ

 

*****

ทวิฉัตร ธานีรัตน์ และกัญญาภัค สาสงเคราะห์

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

กันยายน 2562