สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา : ภารกิจดูแลนักโทษสัญชาติไทยในเปรูและเอกวาดอร์และการส่งตัวกลับประเทศไทย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา : ภารกิจดูแลนักโทษสัญชาติไทยในเปรูและเอกวาดอร์และการส่งตัวกลับประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 637 view
                          ๑. เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ได้มอบหมายให้นายปฐมพงษ์ สิงห์ทอง เจ้าหน้าที่กงสุล ไปส่งอดีตนักโทษสัญชาติไทยในเปรูกลับประเทศไทยที่ท่าอากาศยานกรุงลิมา โดยนักโทษดังกล่าวได้รับการพิจารณาให้พ้นโทษก่อนกำหนดและเนรเทศกลับประเทศภูมิลำเนา โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ
ได้ให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว ช่วยในด้านกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนในด้านชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำ
อย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่อง
 
                           ๒. เท่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ประมวลจากการสัมภาษณ์หญิงไทยที่ติดคุกในเปรูและเอกวาดอร์ล้วนมีสาเหตุจากการชักชวนของชายผิวดำชาวต่างชาติตามสถานบริการต่างๆ เช่น ร้านนวด ผับ บาร์ และถูกหลอกล่อให้เดินทางมาขนยาเสพติดที่แถบอเมริกาใต้โดยอ้างว่า ระวางโทษไม่หนักมาก เคยมีคนทำสำเร็จโดยไม่ถูกจับกุมและให้มากล่าวยืนยันต่อหน้า รวมไปถึงการสัญญาว่าจะแต่งงานด้วยให้สิ่งของตอบแทนหากทำสำเร็จ
 
                           ๓. โดยปรกติเมื่อได้รับแจ้งจากฝ่ายเปรู สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าให้ความช่วยเหลือโดยทันทีตั้งแต่ถูกจับกุมโดยได้ไปร่วมเป็นสักขีพยานในการสอบปากคำและตรวจสอบว่าผู้ต้องหาชาวไทยได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม มีมนุษยธรรม และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา อาทิ มีทนายในการแก้ต่าง สิทธิในการโทรหาญาติขอรับความช่วยเหลือ รวมถึงช่วยทำหน้าที่ล่ามและได้ซื้อของใช้ต่างๆ ไปมอบให้ระหว่างควบคุมตัวด้วย จนเมื่อทราบคำตัดสินของศาลและเรือนจำ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าเยี่ยมทุกสามเดือนเพื่อสอบถามสารทุกข์สุขดิบ เป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักโทษ โดยได้นำสิ่งของเครื่องใช้ไปมอบให้ทุกๆ สามเดือน ให้ยืมหนังสือภาษาไทย นำส่งเงินค่าใช้จ่ายจากครอบครัว ซื้อยาและเวชภัณฑ์ให้กรณีเจ็บป่วย รวมทั้งประสานการนำออกไปรักษาที่โรงพยาบาลกรณีเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับเครือข่ายอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยอบรมขัดเกลาให้ความรู้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้นักโทษได้เป็นที่พึ่งทางใจ และช่วยหา order งานฝีมือหัตถกรรมให้นักโทษได้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายในเรือนจำด้วย
 
                           ๔. นอกจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังมีบทบาทในการช่วยว่าจ้างทนายความที่ปรึกษาและร่วมพิจารณาหาทางเพื่อให้นักโทษได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายท้องถิ่น สำหรับนักโทษรายล่าสุดที่สถานเอกอัครราชทูตฯส่งตัวกลับเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จอีกกรณีหนึ่ง โดยเป็นผลของการร่วมมือระหว่าง ๓ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่าย สอท.ฯ ฝ่ายเปรู และตัวนักโทษเอง กล่าวคือ นักโทษได้แสดงออกว่ากลับตัวกลับใจมีความประพฤติดี ให้ความช่วยเหลือในงานของเรือนจำ โดยเฉพาะการวาดภาพที่นักโทษเป็นผู้มีฝีมือดีได้เข้ารับการอบรมกับอาสาสมัครสอนศาสนาเป็นประจำ ใช้เงินที่ได้จากการขายภาพวาดชำระค่าปรับบางส่วนให้แก่ทางการเปรูตามกำลัง
 
                           ๕. นโยบายของฝ่ายเปรูตั้งแต่ในช่วงปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาที่เริ่มมีการปฏิรูประบบงานยุติธรรมให้มีความรวดเร็ว โปร่งใสใช้หลักธรรมาภิบาล ปรับปรุงข้อกฎหมายให้เอื้อต่อนักโทษต่างชาติมากขึ้น และกรมราชทัณฑ์เปรูเองก็มุ่งในการลดจำนวนนักโทษล้นเรือนจำ
 
                           ๖. การที่กรมการกงสุลได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างทนายความที่ปรึกษาให้ดำเนินการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อสู้คดี/เจรจายกเว้นค่าปรับค้างชำระให้กับนักโทษ เข้าร่วมติดตามการพิจารณาคดีตามหมายนัดของศาล รวมทั้ง ได้ทำการออกเอกสารการเดินทางฯ และให้นักโทษสัญชาติไทยยืมเงินทดรองราชการเป็นค่าบัตรโดยสารเดินทางกลับประเทศไทย จนเมื่อนักโทษได้รับพิจารณาให้พ้นโทษและเดินทางกลับประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตฯก็ได้ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของเปรู ทั้งกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจคนต่างชาติสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าอากาศยานกรุงลิมา สายการบินที่จะส่งตัวอดีตนักโทษกลับ ตลอดจนประสาน
กับกรมการกงสุลแจ้งเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินทางกลับ กระทั่งนักโทษเดินทางออกจากเปรูและถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ
 
                           ๗. เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงกีโต ประเทศเอกวาดอร์ ได้ส่งตัวอดีตนักโทษสัญชาติไทยจำนวน ๒ รายกลับประเทศไทยโดยทางรัฐบาลไทยผ่านกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ให้อดีตนักโทษทั้งสองรายยืมเงินทดรองราชการจ่ายค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
                           ๘. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความสำคัญต่อการดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ ของนักโทษสัญชาติไทยในเอกวาดอร์และเปรูมีเคยมีอยู่ถึงกว่า ๔๐ ราย ในรูปแบบลักษณะต่างๆ ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงฯ อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาเกี่ยวกับ
หญิงไทยถูกหลอกมาขนยาเสพติดคงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขที่ต้นทางที่ประเทศไทยด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีความตระหนักและมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดปัญหานี้ โดยเฉพาะการจัดการกับชาวต่างชาติที่เข้ามาหาเหยื่อเป็นหญิงไทยให้ไปกระทำการผิดกฎหมายในต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุดตัวหญิงไทยเองก็ต้องระมัดระวังไม่หลงเชื่อต่อคำหลอกล่อหรือค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยที่อาจแลกมาด้วยอิสรภาพและเวลาของชีวิต
 
                           ๙. การให้ความช่วยเหลือดูแลผลประโยชน์คนไทยในเปรูและประเทศในเขตอาณายังเป็นงานที่ สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ดังคำขวัญของกรมการกงสุลที่ว่า “#การทูตเพื่อประชาชนทุกแห่งหนเราดูแล” ให้คนไทยทุกคนรู้สึกอุ่นใจที่มี “#คนแปลกหน้าที่ดูแลคุณ” อยู่ใกล้ๆ เสมอตลอดการเดินทาง
หรือพำนักอาศัยในพื้นที่เขตดูแลของสถานเอกอัครราชทูตฯ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ