นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ค. 2565

| 1,581 view

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๓๐ น. (เวลาประเทศไทย) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งจัดขึ้น ณ Tokyo Izumi Garden Gallery กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ผ่านระบบ
การประชุมทางไกล ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรีร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งผู้นำของออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และบรูไน ได้ร่วมกันประกาศถ้อยแถลง
ว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Statement on Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์และครอบคลุมในระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่วมกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยไม่ควรนำมาเป็นเรื่องทางการเมืองระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่ความไม่ปรองดองในภูมิภาค และย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินความร่วมมืออย่างเปิดกว้างและครอบคลุม (open and inclusive)

กรอบความร่วมมือ IPEF เป็นแนวคิดริเริ่มของสหรัฐฯ ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคี โดยมีเป้าประสงค์หลักในการยกระดับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ ในบริบทภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน โดยขณะนี้ มีประเทศในภูมิภาคที่เข้าร่วม IPEF แล้วจำนวน ๑๓ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน ๗ ประเทศ และยังคงเปิดกว้างเชิญชวนให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเข้าร่วมมือกันเพิ่มเติม

กรอบ IPEF จะประกอบด้วยความร่วมมือ ๔ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การค้า (๒) ห่วงโซ่อุปทาน (๓) พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และโครงสร้างพื้นฐาน และ (๔) ภาษีและการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของไทย รวมทั้งนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – หมุนเวียน – เขียว หรือ BCG Economy ซึ่งรวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเตรียมรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ โดยในชั้นนี้ ความร่วมมือ ๔ เสาหลักของกรอบ IPEF ข้างต้นยังเป็นเพียงแนวคิดกว้าง ๆ และยังไม่ได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันใด ๆ โดยภายหลังจากนี้ ประเทศหุ้นส่วนจะหารือเจรจากันในรายละเอียดต่อไป โดยแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทย สามารถพิจารณาเลือกที่จะเข้าร่วมแต่ละเสาความร่วมมือตามความพร้อมและความสมัครใจ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเข้าร่วมถ้อยแถลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนและกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนไทยในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อนาคตในบริบทของการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อีกทั้งมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทย เสริมสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ และเป็นปัจจัยขยายการค้าระหว่างประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยรวมทั้งกับประเทศหุ้นส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวทาง การขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนไทยต่อไป

การเข้าร่วมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในกรอบความร่วมมือ IPEF จะทำให้ไทยไม่เสียโอกาสในการหารือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคที่มีประเทศหุ้นส่วนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย รวมทั้งทำให้ไทยสามารถเข้าไปต่อรองและรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศในการรักษาสมดุลเชิงรุกและเสริมสร้างบรรยากาศระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ