โคลอมเบียรับมอบตำแหน่งประธานชั่วคราวของกลุ่ม Pacific Alliance

โคลอมเบียรับมอบตำแหน่งประธานชั่วคราวของกลุ่ม Pacific Alliance

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 934 view

    เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 นายเซบัสเตียน ปิญเญรา ประธานาธิบดีชิลี ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานชั่วคราวของกลุ่ม Pacific Alliance (PA) ให้แก่นายอีบัน ดูเก ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ในห้วงการประชุมสุดยอด PA ครั้งที่ 15 ที่กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี โดยมีนายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีเม็กซิโก และนายฟรันซิสโก ราฟาเอล ซากัสติ ประธานาธิบดีเปรู เข้าร่วมผ่านระบบทางไกล โดยโคลอมเบียจะมีวาระดำรงตำแหน่งประธานชั่วคราว 1 ปี (ครบวาระในเดือนธันวาคม 2564)

 

pinera-duque

นายเซบัสเตียน ปิญเญรา ประธานาธิบดีชิลี (ฝั่งขวา) และนายอีบัน ดูเก ประธานาธิบดีโคลอมเบีย (ฝั่งซ้าย) ในห้วงการประชุมสุดยอด PA ครั้งที่ 15 ณ กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี // ที่มาของรูป : MercoPress

 

    ประเด็นที่โคลอมเบียให้ความสำคัญในฐานะประธานชั่วคราวของกลุ่ม PA ได้แก่ การส่งเสริมการรวมตัวในภูมิภาค การสร้างตลาดดิจิทัลระดับภูมิภาคเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางเพศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการกระชับและขยายความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก โดยจะผลักดันการปรับสถานะของเอกวาดอร์เป็นรัฐสมาชิกและสิงคโปร์เป็นรัฐสมทบ (Associate State) ของกลุ่ม PA ให้มีผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สิงคโปร์และกลุ่ม PA เพิ่งบรรลุการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน

 

ST_20201213_WKFTA_6187974

นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงค์โปร์ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด PA ครั้งที่ 15 ผ่านระบบทางไกล โดยสิงค์โปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ PA ผลักดันให้เป็นรัฐสมทบ (Associate State) ภายในกลุ่ม PA // ที่มาของรูป : Ministry of Communications and Information

 

กลุ่ม PA เป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีระดับการพัฒนาโดยเฉลี่ยสูงสุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนซึ่งมุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้าโดยมีผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นร้อยละ 41 ของภูมิภาคดังกล่าว มีสมาชิกประกอบด้วย เม็กซิโก ชิลี โคลอมเบีย และเปรู โดยไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ (observer state) ของกลุ่ม PA  ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2563 การค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก PA ทั้ง 4 ประเทศมีมูลค่า 4,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 25 ซึ่งเม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่ม PA นอกจากนี้ PA คาดหวังให้กลุ่มประเทศผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งไทยมีความร่วมมือทางวิชาการในระดับทวิภาคีกับประเทศสมาชิก PA อาทิ ความร่วมมือไตรภาคีกับชิลีเพื่อพัฒนา การปลูกและทำตลาดพืชคีนัวในไทยและอาเซียน หรือโครงการสอนภาษาสเปนให้แก่นักการทูตและข้าราชการไทยโดยรัฐบาลโคลอมเบีย

 

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

มกราคม 2564

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ