วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 นาย Jeff Zients ผู้ประสานงานด้านการจัดการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ประจำรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนการผลิตวัคซีน Pfizer ที่ผลิตโดยโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อส่งออกนอกประเทศภายหลังที่สหรัฐฯ ทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนตนได้แล้วร้อยละ 46 (152 ล้านเข็ม)[1] ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีจำนวนวัคซีนเหลืออยู่อย่างเพียงพอสำหรับประชากรที่เหลือและการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่สำคัญหลังจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 นายโจ ไบเดน ปธน. สหรัฐฯ ได้กล่าวต่อรัฐสภาว่า สหรัฐฯ จะเป็นแหล่งผลิตและกระจายวัคซีนที่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก
นาย Jeff Zients ผู้ประสานงานด้านการจัดการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ประจำรัฐบาลสหรัฐฯ // ที่มาของภาพ : Andrew Harrer/Bloomberg
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2564 บริษัท Pfizer ได้เริ่มจัดส่งวัคซีนของตนให้กับเม็กซิโกแล้วจำนวน 10 ล้านชุด และกำลังจะส่งออกไปแคนาดา ซึ่งจะเป็นวัคซีนที่ผลิตในสหรัฐฯ และเบลเยี่ยม นับเป็นครั้งแรกที่วัคซีนโควิด-19 ผลิตในสหรัฐฯ ส่งออกไปนอกประเทศ ทางบริษัท Pfizer ยังได้แถลงเพิ่มเติมว่า บริษัทตั้งใจจะผลิตวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 25 ล้านชุดต่อสัปดาห์ภายในกลางปีนี้ และคาดหวังที่จะผลิตวัคซีนจำนวน 2,500 ล้านชุดภายในปี 2564 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการจากหลายประเทศทั่วโลก ภายหลังที่สัญญาระหว่างบริษัท Pfizer และรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 สิ้นสุดลงเมื่อเดือนปลายเดือน มี.ค. 2564 และจำนวนวัคซีนที่ผลิตมีเพียงพอต่อความต้องการในสหรัฐฯ ทำให้บริษัทสามารถผลิตและส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ นอกเหนือสหรัฐฯ ได้แล้ว โดยจะเริ่มต้นจากประเทศในซีกโลกตะวันตก
บริษัท Pfizer ตั้งใจจะผลิตวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 25 ล้านชุดต่อสัปดาห์ภายในกลางปีนี้ และคาดหวังที่จะผลิตวัคซีนจำนวน 2,500 ล้านชุดภายในปี 2564 // ที่มาของภาพ : REUTERS
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนการยกเว้นความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้มีการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแก่ประชากรทั่วโลกอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในสถานการณ์วิกฤติของการแพร่ระบาดในขณะนี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากฝ่ายต่าง ๆ เช่น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) รัสเซีย ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ กว่า 60 ประเทศ แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่คัดค้านแนวคิดดังกล่าว เช่น กลุ่มบริษัทผู้ผลิตยา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่า การผ่อนปรนเรื่องสิทธิบัตรจะไม่ได้ช่วยทำให้การกระจายวัคซีนเป็นไปได้เร็วขึ้นหรือเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน โรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวทั่วโลกมีกำลังการผลิตเต็มอัตรา/สมรรถนะแล้ว และการดำเนินการผ่อนปรนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญายังจะต้องผ่านการเจรจาในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และกรอบอื่น ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนในการเจรจาอีกมากและย่อมไม่ทันการณ์ อีกทั้งยังเห็นว่าการรักษากฎหมายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นแนวทางที่ดีในการสนับสนุนให้มีเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐและภาคเอกชน จึงได้มีผู้เสนอทางเลือกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กฎเกณฑ์การค้าพหุภาคีแทน
********************
กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
พฤษภาคม 2564
[1] COVID-19 Vaccinations in the United States, May 10, 2021 แหล่งที่มา : https://covid.cdc.gov/covid-data-tracker/#vaccinations
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)