มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานของประเทศในลาตินอเมริกา

มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานของประเทศในลาตินอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,858 view

    ประเทศในลาตินอเมริกาหลายประเทศได้ประกาศให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานภายหลังการเข้ายึดกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ของกลุ่มตาลีบันเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ ดังนี้

 

 

ประเทศ

มาตรการ

๑.

โคลอมเบีย

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ นาย Iván Duque Márquez ประธานาธิบดีโคลอมเบียประกาศว่า รัฐบาลโคลอมเบียจะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานเป็นการชั่วคราวเฉพาะกลุ่มที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาเอกสารอนุญาตให้เดินทาง โดยเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ ออท.โคลอมเบีย/สหรัฐฯ ประกาศว่าทางการโคลอมเบียยืนยัน รับผู้ลี้ภัยฯ ๔,๐๐๐ ราย ให้อาศัยอยู่ในโคลอมเบีย (สถานที่จัดให้พิเศษ) เป็นเวลา ๑ ปี โดยผู้ขอลี้ภัยจะต้อง (๑) รับวัคซีน COVID-19 ครบ ๒ โดส (๒) เป็นบุคคลที่ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของโคลอมเบีย และ (๓) จะเดินทางต่อไปยังสหรัฐฯ โดยฝ่ายสหรัฐฯ  จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเดินทางและค่าดูแลผู้ลี้ภัยทั้งหมด

________________________________________________

๒.

เม็กซิโก

เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ นาย Marcelo Luis Ebrard Casaubón รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก แถลงว่าทางการเม็กซิโกได้เริ่มกระบวนการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กหญิง ผ่านสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำอิหร่าน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอัฟกานิสถาน โดยเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ผู้แข่งขันเพศหญิงจากทีมสร้างหุ่นยนต์อัฟกานิสถาน ๕ คน เป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกที่เดินทางถึงเม็กซิโก และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ สื่อมวลชนชาวอัฟกานิสถานอีก ๑๒๔ คน รวมทั้ง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ New York Times และครอบครัว ได้เดินทางถึงเม็กซิโก ทั้งนี้ รัฐบาลเม็กซิโกกำลังจัดทำเอกสารเพื่อให้ความคุ้มครองด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัย ชาวอัฟกานิสถานซึ่งเดินทางเข้าเม็กซิโกด้วยวีซ่าด้านมนุษยธรรมที่มีระยะเวลา ๑๘๐ วันและสามารถต่ออายุได้ โดยผู้ลี้ภัยดังกล่าวกำลังแสวงหาช่องทางที่จะย้ายถิ่นฐานถาวรหรือเดินทางไปเรียนต่อยังสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ

________________________________________________

๓.

ชิลี

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ นาง Carolina Valdivia รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศชิลี ได้พบหารือกับผู้แทนชุมชนชาวอัฟกานิสถานในชิลีเพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นของชิลีในการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอัฟกานิสถาน และต่อมารัฐบาลชิลีได้ประกาศรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานชุดแรก ๑๐ ครอบครัว และชุดที่ ๒ จำนวน ๒๗๐ คน ตามรายชื่อที่ชุมชนชาวอัฟกานิสถานในชิลีเสนอ โดยชาวอัฟกานิสถานเหล่านี้จะต้องเดินทางไปยัง สกญ. ชิลีที่ใกล้ที่สุด (อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย) เพื่อเดินทางต่อไปยังชิลี  โดยกระทรวงการต่างประเทศชิลีจะประสานงานผ่าน NGOs ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีในการอพยพชาวอัฟกานิสถานออกจากประเทศ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีญาติโดยตรงที่พำนักในชิลีหรือมีสัญญาจ้างงานโดยชุมชนชาวอัฟกานิสถานในชิลีจะได้รับสถานะ temporary residence ส่วนผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นจะได้รับสถานะ refugee

________________________________________________

๔.

คอสตาริกา

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ รัฐบาลคอสตาริกาประกาศรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน โดยจะพิจารณารับเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ๔๘ คน ที่เคยร่วมงานกับองค์การสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน

________________________________________________

๕.

บราซิล

- บราซิลกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะตรวจลงตราประเภทมนุษยธรรม (humanitarian visa) ให้แก่ชาวอัฟกานิสถานในกลุ่มที่มีภาวะความอ่อนไหวสูง (extreme vulnerability) เพื่ออำนวยความสะดวกการอพยพมายังบราซิล โดยผู้อพยพจะสามารถพำนักในบราซิลเป็นการชั่วคราว และขอรับบัตร National Migration Registry Card (RNM) เพื่อรับหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเพื่อทำงาน และเข้าถึงการบริการของรัฐในบราซิลได้ด้วย

- ผู้ที่ประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราประเภทดังกล่าวโดยกลุ่มที่มี resident visa ในบราซิลจะต้องยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่บราซิลเท่านั้น ซึ่งทางการบราซิลจะพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักการภายในกรอบกฎหมายของบราซิลในการให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำปากีสถาน ร่วมกับรัฐบาลเยอรมนีและสเปน ได้อพยพชาวบราซิลเชื้อชาติอัฟกานิสถาน ๒ ราย และสมาชิกครอบครัวออกจากอัฟกานิสถาน

- การประกาศใช้การตรวจลงตราประเภท humanitarian visa กับผู้อพยพจาก ประเทศใด ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารของรัฐบาลบราซิล ซึ่งหมายความว่า ขึ้นอยู่กับเจตจํานงทางการเมือง (political will) ของรัฐบาลและในทางปฏิบัติ การได้รับการตรวจลงตราประเภทดังกล่าวเป็นเพียงก้าวแรกของผู้อพยพที่จะต้องเริ่มกระบวนการขอรับสถานะผู้ลี้ภัยต่อไป ซึ่งรัฐบาลบราซิลไม่มีกลไกรองรับในกรณีที่บุคคลนั้น ๆ ไม่ได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย นอกจากนี้รัฐบาลบราซิลจํากัดจํานวนการตรวจลงตราประเภทดังกล่าวด้วย โดยที่ผ่านมา ในกรณีของเฮติ รัฐบาลบราซิลได้จํากัดจํานวนคําร้องขอรับการตรวจลงตราที่ ๑๐๐ ราย/วัน

________________________________________________

๖.

เปรู

- เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศเปรูได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน และแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศในการรับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน

________________________________________________

 

กองลาตินอเมริกา
๒ กันยายน ๒๕๖๔