นายโจ ไบเดน ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ ๔๖

นายโจ ไบเดน ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ ๔๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 971 view

    ๑. เมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. (เวลากรุงวอชิงตัน) นายโจ ไบเดนและนางคามาลา แฮร์ริส ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ ๔๖ และรอง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ ๔๙ ตามลำดับ ณ อาคาร รัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีคู่สมรสและสมาชิกครอบครัว บุคคลสำคัญทางการเมืองสหรัฐฯ เข้าร่วม อาทิ รอง ปธน. Mike Pence และภริยา อดีต ปธน. George W. Bush และภริยา อดีต ปธน. Bill Clinton และนาง Hillary Clinton ภริยา และอดีต รมว. กต. อดีต ปธน. Barack Obama และภริยา ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ และสมาชิกรัฐสภาจากทั้งสองพรรค อย่างไรก็ดี ปธน. ทรัมป์ และภริยามิได้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยได้มีพิธีอำลาตำแหน่งที่ฐานทัพ Joint Base Andrews รัฐแมริแลนด์ และออกเดินทางไปยังรัฐฟลอริดา ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ ๒๐ ม.ค. ๒๕๖๔ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๑๕๐ ปี ที่ ปธน. คนปัจจุบันมิได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของ ปธน. คนใหม่

 

676daa4b-da00-4060-99d1-1dffcde8eee2

นายโจ ไบเดนในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ ๔๖ // ที่มาของรูป : Reuters

 

01202021_12_084915-1020x680

นางคามาลา แฮร์ริส ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งรอง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ ๔๙ // ที่มาของรูป : Saul Loeb / The Associated Press

 

    ๒. ปธน. ไบเดน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง (Inaugural Address) มีใจความสำคัญว่า วันนี้เป็นวันของสหรัฐฯ และการเฉลิมฉลองของ ปชต. โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความเป็นเอกภาพเพื่อร่วมกันต่อสู้และก้าวผ่านอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ (๑) การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งทำให้ ชาวอเมริกันเสียชีวิตแล้วกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนชาวอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และยังส่งผลกระทบต่อ ศก. อย่างมหาศาล (๒) การแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ (๓) วิกฤตสิ่งแวดล้อม/การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (๔) กลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มแนวคิดสุดโต่งใน ปท. ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า หากชาวอเมริกันมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สหรัฐฯ จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ โดยขอให้ ทุกฝ่ายฟังความคิดเห็นของกันและกันมากขึ้น และยุติการบิดเบือนข้อเท็จจริง รวมทั้งได้กล่าวถึงกลุ่มผู้ประท้วง ที่ก่อความไม่สงบที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ ๖ ม.ค. ๒๕๖๔ ว่าความรุนแรงไม่สามารถปิดกั้นเจตจำนงของ ปชช. หรือหยุดยั้งกระบวนการ ปชต. ได้ และส่งสัญญาณไปยังผู้ที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้ตนว่าความเห็นต่างไม่จำเป็น ต้องนำไปสู่ความแตกแยก โดยตนจะเป็น ปธน. ของชาวอเมริกันทุกคน พร้อมทั้งย้ำถึงคุณค่าและนิยามความเป็นอเมริกันที่ทุกคนเห็นพ้องกัน คือ โอกาส ความมั่นคง เสรีภาพ เกียรติภูมิ การให้เกียรติ และข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ปธน. ไบเดน ได้กล่าวฝากไปยัง ปท. ต่าง ๆ ว่า สหรัฐฯ ได้พิสูจน์ตนเองและจะกลับมาแข็งแกร่งเพื่อสู้กับภัยคุกคามต่าง ๆ รวมทั้งจะฟื้นฟู คสพ. กับพันธมิตร โดยสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความก้าวหน้า และความมั่นคง และจะนำพา ปท. ต่าง ๆ ให้เดินหน้าต่อไปด้วยพลังของการเป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมกันนี้ ได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมพิธีไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากโควิด-๑๙ ในตอนท้าย ได้ให้คำมั่นว่า จะอุทิศตนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อ ปท. และจะร่วมกับทุกคนต่อสู้กับภัยคุกคามและความท้าทายต่าง ๆ เพื่อชนรุ่นหลัง เพื่อ รธน. ปชต. และประเทศชาติ

 

dad245cb-2ee8-424e-90e5-000bbbe0e6da

ปธน. ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งโดยให้ความสำคัญในประเด็นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ วิกฤตสิ่งแวดล้อม และกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศ // ที่มาของรูป : Reuters

 

    ๓. ภายหลังพิธีสาบานตน ปธน. ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารทั้งสิ้น ๑๗ ฉบับ โดย ๙ ฉบับเป็น การยกเลิกนโยบายของอดีต ปธน. ทรัมป์ อาทิ (๑) ยกเลิกการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลก (๒) ยกเลิกเงินสนับสนุนการก่อสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก (๓) เริ่มกระบวนการเพื่อกลับเข้าสู่ Paris Agreement (๔) ยกเลิกโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL Pipeline (๕) สั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และ (๖) ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของผู้ถือ นสดท. ปท. มุสลิม ๗ ปท. นอกจากนี้ ได้ออกคำสั่งให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ทำการรัฐและรักษาระยะห่าง ทางสังคม รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐต่าง ๆ ออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน และหลังจากนี้ ปธน. ไบเดน จะให้ความสำคัญกับการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การออกมาตรการกระตุ้น ศก. และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยคาดว่าจะมีการออกคำสั่งฝ่ายบริหารและผ่านร่าง กม. อีกหลายฉบับในช่วง ๑๐๐ วันแรก ของการทำงาน

 

_116602600_8c2fc642-d438-441b-b805-acdf6ec77dfe

ปธน. ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารทั้งสิ้น ๑๗ ฉบับ และคาดว่าจะมีการออกคำสั่งฝ่ายบริหารและผ่านร่าง กม. อีกหลายฉบับในช่วง ๑๐๐ วันแรก ของการทำงาน // ที่มาของรูป : EPA

 

    ๔. ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รอง ปธน. แฮร์ริส ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ปธ. วุฒิสภาสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ ส.ว. Raphael Warnock (D-GA) และ ส.ว. Jon Ossoff (D-GA) ซึ่งชนะการเลือกตั้ง ส.ว. รัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. ๒๕๖๔ และ ส.ว. Alex Padilla (D-CA) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. แทนรอง ปธน. แฮร์ริส การเข้ารับตำแหน่งของ ส.ว. รัฐจอร์เจียทั้ง ๒ คนและการเข้ารับตำแหน่งรอง ปธน. ของนางแฮร์ริส ส่งผลให้พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ

 

    ๕. อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค. ๒๕๖๔ วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้จัด confirmation hearing เพื่อพิจารณาให้ ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๕ ราย คือ (๑) นาง Janet Yallen ตำแหน่ง รมว.กค. (๒) นาง Avril Haines ตำแหน่ง Director of National Intelligence (๓) นาย Alejandro Mayorkas ตำแห่ง รมว.ก.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (๔) นาย Antony Blinken ตำแหน่ง รมว.กต. และ (๕) พลเอก Lloyd Austin ตำแหน่ง รมว.กห. และเมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๒๕๖๔ วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงคะแนนสียงเห็นชอบให้ นาง Haines ดำรงตำแหน่ง Director of National Intelligence ด้วยคะแนน ๘๔ ต่อ ๑๐ เสียง โดยเป็นบุคคลแรกใน ครม. ปธน. ไบเดน ที่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา อนึ่ง นาง Haines เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยจะกำกับดูแลหน่วยงานด้านข่าวกรองและ คมค. อีกกว่า ๑๗ หน่วยงาน

 

********************

 

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

มกราคม ๒๕๖๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ