วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มิ.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ชิลีได้ประกาศขยายมาตรการจำกัดการสัญจรในกรุงซันติอาโกต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๖๔ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ และขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วกว่าร้อยละ ๕๗ ของประชากรกลุ่มเป้าหมายจำนวน ๑๕ ล้านคน (จากทั้งหมด ๑๙ ล้านคน) ซึ่งสูงเป็นอันดับ ๑ ของภูมิภาคลาตินอเมริกาและอันดับ ๕ ของโลก โดยใช้วัคซีน Sinovac (ร้อยละ ๗๘.๙ ของวัคซีนทั้งหมด) Pfizer และ AstraZeneca/CanSino อีกทั้งจัดซื้อเพิ่มจาก Johnson & Johnson และ Sputnik V และร่วมโครงการ COVAX
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าปัจจัยซึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในชิลียังคงเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ตั้งแต่โดสแรกที่ทำให้เกิดความหละหลวมในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ สายพันธุ์ซีตา (บราซิล) และเดลตา (อินเดีย) การที่ชิลีจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ และการจัดสรรวัคซีนไม่ได้ตามเป้าหมายซึ่งกำหนดฉีดให้ประชากรร้อยละ ๘๐ ของกลุ่มเป้าหมายข้างต้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔
ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในชิลียังไม่คลี่คลาย แต่ธนาคารกลางชิลีได้คาดการณ์ว่า GDP ของชิลีจะเติบโตร้อยละ ๘.๕ - ๙.๕ ในปี ๒๕๖๔ (ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP เฉลี่ยของภูมิภาคลาตินอเมริกาในปี ๒๕๖๔ จะอยู่ที่ร้อยละ ๔.๔) ขณะที่การค้าต่างประเทศซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๖๔ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ ๓๕ ปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๓ โดยสูงที่สุดในรอบ ๓๐ ปี ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาทองแดงในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาซึ่งชิลีเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อนึ่ง ชิลีเป็นคู่ค้าอันดับ ๔ ของไทยในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของชิลีในอาเซียนรองจากเวียดนาม ในปี ๒๕๖๓ การค้าไทย - ชิลีมีมูลค่ารวม ๗๗๒.๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยชิลีได้ดุลการค้ามูลค่า ๕๐.๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
********************
กองลาตินอเมริกา
๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
ที่มาของรูปหน้าปก : elenviador
รูปภาพประกอบ
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)