กระทรวงการต่างประเทศเสริมสร้างความร่วมมือไทย-เม็กซิโกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ ในการประชุมกลไกหารือทวิภาคีไทย-เม็กซิโก ครั้งที่ ๔

กระทรวงการต่างประเทศเสริมสร้างความร่วมมือไทย-เม็กซิโกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ ในการประชุมกลไกหารือทวิภาคีไทย-เม็กซิโก ครั้งที่ ๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,010 view

    อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เสริมสร้างความร่วมมือไทย-เม็กซิโก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงในสาขาใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับ BCG ด้านวิชาการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งเสริมและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ในการประชุมกลไกหารือทวิภาคีไทย-เม็กซิโก ครั้งที่ ๔

 

    เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลไกหารือทวิภาคี (Political Consultations) ไทย-เม็กซิโก ครั้งที่ ๔ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยมีนายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และนาง Claudia Franco Hijuelos อธิบดีกรมเอเชีย-แปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายเม็กซิโก พร้อมด้วยนายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก และนาย Bernado Cordova Tello เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

 

    การประชุมมีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และแนวนโยบายของประเทศผู้เล่นสำคัญในโลก ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือไทย-เม็กซิโก ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อบริหารจัดการผลกระทบทั้งในแง่สิ่งท้าทายและโอกาส ในการนี้ ไทยและเม็กซิโกเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายในสาขาใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่ไทยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเม็กซิโกมีจุดแข็งในหลายเรื่อง รวมทั้งได้หารือกันเกี่ยวกับการส่งเสริมและลดอุปสรรคทางการค้าในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ข้าว ยางพารา กุ้งสด องุ่น อะโวคาโด ตลอดจนงานสัมมนา “โอกาสในการประกอบธุรกิจในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน” ที่กระทรวงการต่างประเทศจะจัดขึ้นในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔

 

    ทั้งสองฝ่ายยังหารือกันเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมถึงแนวทางผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของสองประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคี อาทิ สหประชาชาติ APEC FEALAC และ Pacific Alliance (PA) นอกจากนี้ ยังได้หารือกันเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทย-เม็กซิโก ระยะ ๓ ปี (๒๕๖๔-๒๕๖๖) และการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อฉลองโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เม็กซิโก ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ เช่น เทศกาลภาพยนตร์ อาหารและวัฒนธรรม

 

    เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับ ๒ จาก ๓๓ ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และถือเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับต้นของไทยในภูมิภาคดังกล่าว โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับเม็กซิโกในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๓,๐๖๑.๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีก โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับวิถีชีวิตใหม่หลังสถานการณ์โควิด-๑๙ อาทิ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกการทำงานที่บ้าน เวชภัณฑ์และสินค้าเสริมสุขภาพต่าง ๆ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ