วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ม.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อมิวสิกวิดีโอของวง 4MIX ศิลปินไทยหน้าใหม่สังกัดค่าย KS GANG จากข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์ได้สร้างปรากฏการณ์น่าสนใจขึ้นในยูทูปจากเสียงตอบรับมากมายของเหล่า global citizen จากซีกโลกลาตินอเมริกาซึ่งเต็มไปด้วยพลังบวกและคอมเมนต์ภาษาสเปนและโปรตุเกสที่ทั้งชื่นชม ให้กำลังใจ ประกาศตัวเป็นแฟนคลับของศิลปินไทยกลุ่มนี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าจากนี้ไปภาษาและระยะทางจะไม่เพียงมิใช่อุปสรรค แต่ยังเป็นโอกาสให้ไทยกับลาตินอเมริกาได้เสริมพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านการเข้าใจในความต่างระหว่างวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสองภูมิภาคที่ห่างไกลกันทางกายภาพ แต่ใกล้กันเพียงหน้าจอมือถือ
เรา ในฐานะกองลาตินอเมริกา มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คืออีกหนึ่งภาพสะท้อนของโลกไร้พรมแดนในสภาวะความปกติรูปแบบใหม่หรือ “New Normal” ซึ่งการสื่อสารทาง “ออนไลน์” ไม่เพียงเชื่อมโยงภาพและเสียงจากแดนไกลเข้าหากัน หากแต่ยังผูกโยง “ใจ” ที่เคย “ออฟไลน์” ให้ค่อย ๆ เปิดกว้างรับเทรนด์ใหม่ ๆ จากอีกมุมหนึ่งของโลก และชวนให้อยากหาคำตอบว่า ธุรกิจบันเทิงไทยโดยเฉพาะ T-POP ที่กำลังมาแรงในยุคนี้มีการปรับตัวในทิศทางใดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลก New Normal ในโอกาสนี้ เรายินดีอย่างยิ่งที่คุณศรัญญา หัถรังษี กรรมการผู้จัดการบริษัทข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ให้เกียรติมาพูดคุยกันถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นิยามของ T-POP ความท้าทายของอุตสาหกรรมบันเทิงยุค New Normal และโอกาสใหม่ ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา
แนะนำให้รู้จักกับ “ข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์”
ข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นธุรกิจค่ายเพลง ก่อตั้งขึ้นมาได้ประมาณสองปีตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2562 มีศิลปินในสังกัดประมาณกว่า 50 คน เราเริ่มต้นครั้งแรกจากโปรเจ็กต์ “ขอบคุณที่กลับมา” โดยการนำศิลปินในยุค ’90 กลับมาทำเพลงใหม่ แต่เรายังมีนโยบายสร้างฝันคนรุ่นใหม่ ก็เลยเปิดอีกค่ายชื่อว่า “KS GANG” รวมเด็กรุ่นใหม่ ๆ หน้าใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นก็มีน้อง ๆ วง 4MIX ด้วย แล้วเราก็มีอีกสองค่ายที่ยังไม่ได้เปิดตัวจริงจัง เป็นเหมือนแล็ปทดลอง คือ คูลส์ อัพ ที่เป็นคอมมูนิตี้แรพเปอร์ และ Home6ix ที่รวมเพลงแนว Easy Listening แล้วก็ยังมีพาร์ตเพลงลูกทุ่งชื่อข้าวสารแลนด์
คุณศรัญญา หัถรังษี กรรมการผู้จัดการบริษัทข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
ตอนนี้ทุกภาคส่วนต่างกำลังเผชิญความท้าทายว่าจะปรับตัวเข้ากับบริบทโลกแบบ New Normal ที่เป็นผลจากวิกฤตโควิด-19 อย่างไรรวมทั้งธุรกิจบันเทิง เห็นว่าทางข้าวสารฯ ก็ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงนี้พอดี อยากทราบว่าทางบริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หรือไม่ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมาบริษัทค่อนข้างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างงานโชว์ตัวของศิลปินตามผับไม่มีเลย แต่สิ่งที่กลับเติบโตขึ้นมาแทนคือสตรีมมิ่ง (streaming) ซึ่งบังเอิญที่บริษัทเราเป็นธุรกิจบันเทิงครบวงจร มีด้านดิจิทัลที่แข็งแรง จึงสามารถปรับตัวไปเน้นการโปรโมตคอนเทนต์ออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งเมื่อดูจากสถิติหลังบ้านและการที่มีกลุ่มศิลปินของเราอย่าง 4MIX ไปโด่งดังในอีกซีกโลกหนึ่ง ก็ถือว่าเติบโตขึ้นมาก โดยที่ผู้คนหันมาเสพคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น YouTube TikTok หรือ Twitter
ส่วนแนวทางการปรับตัวด้านการผลิตคอนเทนต์ของเราก็เช่น อย่างของฝั่งน้อง ๆ รุ่นใหม่ในค่าย KS GANG กลุ่มเป้าหมายของเขาจะชอบให้มีคอนเทนต์ออกมาสม่ำเสมอทั้งตัวเพลงและเรียลลิตี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเวลาการปล่อยเพลง ก็จะมีคอนเทนต์เพียงคลิปมิวสิกวิดีโอหนึ่งคลิป หรือ audio lyrics หนึ่งคลิป แต่ตอนนี้เราแตกไปมากกว่านั้น ปรับคอนเทนต์ให้มันเยอะขึ้น หลากหลายรูปแบบขึ้น และเพิ่มเพลงในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ เข้าไปด้วย เช่น 4MIX เวอร์ชันลาติน และ dance performance ที่เป็น gimmick เช่นไปเต้นข้างนอก หรือเวอร์ชัน acoustic
ในภาพรวม ทางข้าวสารฯ มองว่าตลาดลาตินอเมริกาเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมากน้อยเพียงไร และมีแผนธุรกิจที่จะเข้าตลาดนี้อย่างไร
บริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสที่จะตีตลาดนี้เพราะมองว่าชาวลาตินอเมริกาเสพงานฝั่งเอเชียมากพอสมควร และเท่าที่รับรู้มา ธรรมชาติของคนที่นั่นใกล้เคียงกับคนเอเชียโดยเฉพาะในแง่ความเป็นมิตรและสไตล์เพลงที่สนุุกสนาน ซึ่งเหมาะกับกลุ่มศิลปินในสังกัดอยู่แล้วรวมทั้ง 4-Mix ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรม carnivals ที่มีอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ตลาดอื่น เช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น มีฝั่ง K-POP เข้าไปทำตลาดอยู่แล้ว หากข้าวสารหันไปเปิดตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่น น่าจะมีโอกาสมากกว่า
เมื่อก่อนเราจะคุ้นเคยแต่กับ K-POP หรือ J-POP แต่ช่วงนี้กระแส T-POP ของไทยกำลังมาแรงและเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว จึงขอทราบว่า T-POP ในมุมมองของข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นอย่างไร
ต้องบอกว่าบริษัทฯ มีนิยามคำว่า T-POP เป็นของตัวเอง ตัว T ของเราไม่ได้เจาะจงว่าต้องหมายถึง “Thai-POP” อะไรขนาดนั้นเพราะรู้สึกว่ามันแคบไป เรามองตลาดที่ global กว่านั้น ในฐานะ global citizen ทั้งฝั่งเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป โดยคนกลุ่มนี้จะยังสามารถแสดงตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจะรับวัฒนธรรมอื่นมา ยกตัวอย่างเช่น ศิลปิน 4MIX ก็จะมีเอกลักษณ์ชัดเจนเรื่องการแต่งตัวกับแนวเพลง ส่วนศิลปินอื่นในค่ายก็เช่นกัน อาทิ SKYLIZE ซึ่งเป็นบอยแบนด์ที่รวมคนเต้นเก่งมาก ๆ ระดับโลก ระดับเกาหลี ก็จะเน้นโชว์ท่าเต้นที่แข็งแรง ซึ่งเป็นจุดแข็ง เป็นเอกลักษณ์ของเขาค่ะ
การเผยแพร่อุตสาหกรรม T-POP ในตลาดต่างประเทศ นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยแล้ว จะมีผลพลอยได้ในแง่อื่นใดอีกบ้าง เช่น การช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมความเข้าใจอันดีกับต่างชาติ
เชื่อว่า T-POP เชื่อมโยงได้ในหลายเรื่องมาก ขณะที่เราได้โอกาสทางธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์เกี่ยวกับการขายเพลง ก็จะมีเรื่องของวัฒนธรรมเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะไม่ต่างจากโมเดล K-POP ที่ประสบความสำเร็จ (ด้านการเผยแพร่วัฒนธรรม) ซึ่งดึงดูดให้ผู้เสพเพลงของเราใส่ใจสนใจที่จะตามรอยกันเข้ามากับคอนเทนต์อื่นที่ปรากฏอย่างชัดเจนหรือแฝงอยู่ในสินค้าเพลงของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว ความสนใจภาษาไทยมากขึ้นของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ แน่นอนว่าการที่ T-POP ได้รับการยอมรับในระดับโลก ย่อมจะมีผลด้านเศรษฐกิจตามมามากมาย เป้าหมายใหญ่ ๆ ที่เราคาดไว้ในการตีตลาดลาตินอเมริกา ได้แก่ ธุรกิจอีเว้นต์ ซึ่งจะมิใช่แค่ผู้เข้าร่วมจากฝั่งไทย แต่มาจากหลายประเทศ ทั้งจากฝั่งเอเชีย อเมริกาใต้ และยุโรป
วง 4mix ที่กำลังมีกระแสในภูมิภาคลาตินอเมริกาตอนนี้ มีการแสดงออกที่ชัดเจนเลยว่าเป็นวงที่มีหนึ่งในสมาชิกที่เป็น LGBTQ ความคิดเกี่ยวกับการนำ LGBTQ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์นี้ ทางบริษัทมีที่มาอย่างไร ถือว่าเป็นจุดแข็งด้วยไหมนอกเหนือจากความสามารถในการร้องและเต้น
เรานำเรื่อง LGBTQ มาเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอศิลปิน 4-Mix โดยพิจารณาจากความเป็นตัวตนของศิลปินว่าเป็นอย่างไรและอยากแสดงออกมาในมุมไหน เช่น น้องวง 4mix ซึ่งอยากเป็นตัวตนที่ชัดเจนทั้งในเรื่องการแต่งตัว การเปิดเผยในเรื่องการพูด เราก็ไปในทางนั้น และสนับสนุนให้ศิลปินเป็นให้สุดในแบบที่พอใจ เราเชื่อว่า ความสำคัญอยู่ที่ความจริงใจ น้องเป็นแบบนี้และน้อง represent แบบนี้จริง ๆ ซึ่งแสดงออกถึงความจริงใจค่ะ
4mix
หลังจากนี้ นอกจากวง 4mix แล้ว บริษัทฯ มีแผนจะโปรโมต T-POP ในลาตินอเมริกาอย่างไรต่อไป
ศิลปินที่เราจะปล่อยต่อจากนี้ เราก็คาดหวังว่าจะได้ฐานลาตินเมริกาเช่นเดียวกับวง 4mix อย่างตอนนี้เราได้ปล่อยคอนเทนต์ของวง SKYLIZE ควบคู่กันไป ก็เริ่มมีกลุ่มแฟนที่รัก 4mix มารักวงนี้ด้วย วัฒนธรรมของคนฟังเพลงกลุ่มลาตินอเมริกานี้ ไม่ว่าจะ K-POP หรือ T-POP เขาจะสนับสนุนค่าย ถ้าเขารักศิลปินในค่ายนี้แล้ว อีกวงเปิดตัวตามมา (debut) แฟน ๆ ก็รู้สึกว่าเป็นวงน้อง และก็จะรักวงใหม่ ๆ ตามไปด้วย
อนาคตมีที่แผนจะทำร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในลาตินอเมริกาจัดกิจกรรมใดบ้างหรือไม่อย่างไร
งานแรกเป็นกิจกรรมที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก จะทำอยู่แล้ว เหมือนเป็นการส่งเสริมภาษาไทยโดยการใช้เพลงไทย คือจะมีอีเว้นต์กิจกรรมให้คนลาตินอเมริกาเข้ามาร่วมร้องเพลงไทย แล้วให้น้องศิลปิน 4-Mix ไปเป็นกรรมการตัดสินซึ่งถ้าเป็นช่วงที่เดินทางได้คาดว่าช่วงพฤศจิกายนค่ะ (หัวเราะ) ก็จะ
ให้น้องไปมอบรางวัลที่เม็กซิโกเลย แต่ถ้ายังเดินทางไม่ได้ คงต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ รวมถึงอนาคตที่ทางสถานเอกอัครราชทูตจะช่วยแนะนำให้รู้จักพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่นั่นว่าทางบริษัทเราจะเชื่อมต่อธุรกิจกับเขาได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไปโชว์ตัว การโปรโมตหรือร่วมกิจกรรมที่นั่นเพราะอย่างที่บอกว่าถ้าเราทำธุรกิจนี้แล้วจบอยู่แค่ในเมืองไทย ต่อให้เพลงเราดังแค่ไหนยอดเพลงก็ไม่น่าจะเกิน 500 ล้านวิว แต่มันจะไปแตะที่ 1000 ล้าน 2000 ล้านได้ คือการที่เราต้องขยายตัวและเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่ะ
ทางกองรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับบริษัทข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก่อนจะจากกันไป อยากทราบว่าทางบริษัทมีเป้าหมายและแผนงานในอนาคตอย่างไรบ้าง
เรามุ่งมั่นกับเป้าหมายที่จะให้ศิลปินในค่ายเป็นที่ยอมรับทั่วโลก รวมทั้ง big event ซึ่งเรามองไปถึงระดับ world tour โดยก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราก็น่าจะต้องออกไปโปรโมตตามประเทศต่าง ๆ โดยอาศัยเครือข่ายของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เราสามารถเข้าไปร่วมได้ เช่น การส่งเสริมภาพยนตร์ไทยของกระทรวงพาณิชย์ เราเองก็สามารถเอาศิลปินของเราไปร่วมได้ หรือในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมเราก็มองในเรื่องของการเป็นทูตวัฒนธรรม ไม่ว่าจะผ่านคอนเทนต์ ผ่านเพลง หรือผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่น้อง ๆ ศิลปินของเราสามารถไปเข้าร่วมได้ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งลาตินอเมริกา เราจึงมองว่าโอกาสที่จะขยายฐานแฟนคลับนานาชาติต่อสื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไทยให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก
*****
เรื่อง : พิชญาภา ปัญญาศิริ / ภัชษร หาญกิติวัธน์
ภาพ : บริษัท ข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
*****
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสารออนไลน์ DLA Magazine ฉบับที่ 2 เดือนสิงหาคม 2564
อ่าน DLA Magazine ฉบับที่ 2 ย้อนหลังได้ที่แอปพลิเคชัน Discover Latin America (iOS/Android) หรือเว็บไซต์ discoverlatinamerica.net
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)