วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลก ปี 2018
(Mexico World Design Capital 2018)
Mexico City
เม็กซิโก ซิตี้ ถือเป็นเมกะ ซิตี้ (Mega City) อันหมายถึง เมืองที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไป เม็กซิโก ซิตี้มีประชากรประมาณ 21.6 ล้านคน เป็นเมกะซิตี้ที่มีประชากรมาที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ปัญหาหลักของเมกะซิตี้ทั่วโลกคือประชากรล้น (overpopulation) ซึ่งเม็กซิโก ซิตี้ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคนเป็น 15 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 50 ปี จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงความต้องการที่อยู่อาศัยและบริการที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ การจราจรติดขัด คุณภาพอากาศเลวร้ายและอาชญากรรมก็ตามมาด้วย นอกจากนี้ เม็กซิโก ซิตี้ยังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้ เนื่องจากความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น หากใครเคยเห็นภาพมุมสูงของเมืองนี้ จะเข้าใจเลยว่าปัญหานี้รุนแรงมากขนาดไหน เพราะบ้านเรือนจะอยู่ติดกันแบบรั้วชนรั้ว ที่มีทั้งบ้านหลังใหญ่ดูสะอาดตา มีที่จอดรถกว้างขวาง และตึกแถวแออัดยัดเยียดอย่างชัดเจน
World Design Capital คืออะไร
World Design Capital หรือ เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก มีการเลือกทุกสองปีโดย World Design Organization (WDO) โครงการเลือกเมืองที่มีความโดดเด่นทางด้านการออกแบบเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยเมืองที่ได้รับเลือกต้องเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงผลงานไปจนถึงการจัดประชุมและโครงการทางการศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการออกแบบของเมือง ๆ นั้นในฐานะเครื่องมือการขยายความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้นโยบายการจัดการเมืองด้วยการออกแบบยั่งยืนและการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ในปีที่ผ่าน ๆ มา เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก ได้แก่ โตรีโน (อิตาลี, 2008) โซล (เกาหลีใต้, 2010) เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์, 2012) เคปทาวน์ (แอฟริกาใต้, 2014) และไทเป (ไต้หวัน, 2016) และเม็กซิโก ซิตี้ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกประจำปี 2018 โดยเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกเมืองที่ 6 และเป็นเมืองแรกในทวีปอเมริกาที่ได้รับรางวัลนี้ และมีการประกาศแล้วเช่นกันว่าให้นครลีล (Lille) ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกประจำปี 2020
ทำไมเม็กซิโก ซิตี้จึงได้รับเลือกเป็น WDC 2018
แม้เม็กซิโก ซิตี้จะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเรื่องความแออัด มลพิษ การจราจรที่ติดขัด แต่ความลำบากยากแค้นเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ให้เข้ามาแสวงหาแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์งานออกแบบและผลงานศิลปะ
WDO ระบุว่า เม็กซิโก ซิตี้ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกประจำปี 2018 เนื่องจากสามารถผสมผสานแนวคิดดั้งเดิมเข้ากับวิสัยทัศน์สมัยใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่นำไปสู่ความยั่งยืน และใช้การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะการเน้นแก้ปัญหาในแถบที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้ต่ำผ่านโครงการเกี่ยวกับสุขภาพ การสื่อสารและความปลอดภัย อันพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามที่จะผลักดันให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการออกแบบในวงกว้าง เช่น โครงการจักรยานสาธารณะ EcoBici สวนกลางเมือง สวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น เป็นต้น
แต่เป็นไปได้ว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้เม็กซิโก ซิตี้ เอาชนะคู่แข่งอย่างเมืองกูรีตีบา (Curitiba) ของบราซิลได้สำเร็จ ดูเหมือนจะเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ไม่เพียงมีแต่การสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแวดวงการออกแบบในภาคประชาชนด้วย
รูปภาพจาก https://www.wdccdmx2018.com/
เนื่องจากระบบคมนาคมและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงและไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ระยะเวลาเดินทางเฉลี่ยของชาวเมืองในเม็กซิโก ซิตี้อยู่ที่ประมาณ 3 ชม. ต่อวัน เมื่อปี 2010 เม็กซิโก ซิตี้ จึงริเริ่มโครงการจักรยานสาธารณะ EcoBici ขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างมาก ปัจจุบันมีสถิติการเดินทางกว่า 52 ล้านครั้ง จำนวนจักรยานให้บริการ 6,800 คัน และสถานีจักรยานทั้งสิ้น 480 สถานี โดยมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ECOBICI CDMX ที่สามารถตรวจสอบว่ามีสถานีจักรยานที่ไหนบ้าง และแต่ละสถานีมีจักรยานจอดอยู่กี่คัน
ความพยายามในการจัดการเมืองโดยรัฐเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อปี 2014 เมื่อเกิดการเปลี่ยนกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยผู้ใช้จักรยาน ขนส่งสาธารณะ และรถยนต์มาเป็นอันดับสุดท้าย นอกจากนี้เม็กซิโก ซิตี้ ยังลงทุนเรื่องระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT (Bus Rapid Transit) ส่งผลให้มีเส้นทาง BRT ทั้งสิ้น 7 สายภายในระยะเวลาเพียง 13 ปี และจะกลายเป็นเมืองที่มีระบบ BRT ใหญ่ที่สุดในโลกในไม่ช้า
Laboratorio para la Ciudad (Laboratory for the City) เป็นหน่วยงานด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับเมืองและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเมือง โครงการแรก ๆ ของทีมเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่แล้วอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็น Urban Artifact โครงไม้ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายตัวหนอนและมีโพรงตรงกลางให้เข้าไปนั่งได้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้พื้นที่สาธารณะของชุมชนและเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อป โดยตัวงานจะจัดตามจัตุรัสสำคัญหลายแห่งทั่วเมือง หรือเวทีสัมมนาที่เปลี่ยนดาดฟ้าตึกที่ตั้ง Laboratorio para la Ciudad ให้กลายเป็นพื้นที่รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องอนาคตของการผลิตไปจนถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเดินเท้า
เมื่อชาวเมืองเริ่มตื่นตัว โครงการอื่นๆ ก็เริ่มตามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น Traxi เพื่อฟื้นความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ให้กลับคืนมา หลังจากมีแท็กซี่ไม่ได้จดทะเบียนกว่า 20,000 คันที่เกี่ยวข้องกับคดีลักทรัพย์และทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร จนส่งผลให้มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นและเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นอีก 30% จากการหาที่จอดรถ โดย Traxi จะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยผู้โดยสารตรวจสอบว่าแท็กซี่คันนี้จดทะเบียนแล้วหรือไม่ และยังมีปุ่มแจ้งเหตุร้ายส่งตรงไปยังสำนักงานตำรวจในกรณีเกิดเหตุร้ายอีกด้วย
กิจกรรมในเม็กซิโก ซิตี้ในฐานะ WDC 2018
ปี 2018 เม็กซิโก ซิตี้จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี (Signature events ในเดือนมี.ค. เม.ษ. และต.ค. ) ทั้งนิทรรศการ งานประชุม การจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับการออกแบบภายใต้หัวข้อ Socially Responsible Design หรือการออกแบบที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหัวข้อย่อย ได้แก่ 1.) ผู้คน 2.) พื้นที่สาธารณะ 3.) สิ่งแวดล้อม 4.) อัตลักษณ์เมือง 5.) ความเคลื่อนไหว และ 6.) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “สนับสนุนบทบาทของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ในฐานะตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในบริบทของความเป็นเมือง ทั้งยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น พื้นที่สาธารณะ และความยั่งยืน”
พิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 - 6 มี.ค. บริษัทสถาปนิกชั้นนำของโลก 10 บริษัทเข้าร่วม อาทิ Zaha Hadid Architects, Weiss/Manfredi และ Gaetano Pesce และมีการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการออกแบบที่มีชื่อว่า “WDC International Design Policy Conference” ภายใต้หัวข้อ ‘The Future of Our Cities: a social approach to the challenges of the first urban century’ ที่รวบรวมสถาปนิก นักออกแบบ นักผังเมืองและศิลปิน 13 คนมาวิเคราะห์ทบทวนนโยบายและปัญหาที่เมืองนี้กำลังเผชิญหน้าในปัจจุบัน ทั้งในด้านพื้นที่สาธารณะ, ความเคลื่อนไหว (mobility), การจัดการขยะและพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ในระดับมหาวิทยาลัย มีการจัด Inter-University Program โดยมหาวิทยาลัยในเม็กซิโก ซิตี้จะร่วมกันออกแบบโครงการที่มีเป้าประสงค์เพื่อการเชื่อมโยงและการสร้างความร่วมมือทางด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม รวมไปถึงการจัดประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเสวนา เวิร์คชอปเกี่ยวกับการออกแบบ นวัตกรรม สถาปัตยกรรม วิทยาการปรับปรุงเมือง (urbanism) เศรษฐกิจสร้างสรรค์และนโยบายรัฐบาล เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่นักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาด้านการออกแบบ มีสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบและศิลปะเข้าร่วม 9 แห่งที่เข้าร่วม ได้แก่ Universidad La Salle/ Universidad Anahuac/ UNAM ( Architecture School และ the CIDI)/ Universidad Autonoma Metropolitana/ Universidad Iberoamericana/ Universidad del Valle de México/ Tecnologico de Monterrey/ Universidad CENTRO และ the Design School of the National Fine Arts
นักเรียนนักศึกษายังได้รับโอกาสให้นำผลงานของตนมาจัดแสดงที่ CDMX อันเป็นพื้นที่แสดงผลงานการสร้างสรรค์ที่ตรงกับหัวข้อการออกแบบที่รับผิดชอบต่อสังคม มีการรวบรวมนิทรรศการ งานแสดงอิสระ (Independent events) และผลงานอันมาจากความคิดริเริ่มต่าง ๆ นิทรรศการทั้งหมดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม หากนักเรียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ Inter-University เข้าชมแต่ละนิทรรศการจะได้รับคะแนน 5 คะแนน เมื่อสะสมครบ 100 คะแนนจะได้รับประกาศนียบัตรว่าได้เข้าร่วมงาน Interuniversity จาก World Design Organization และ World Design Capital CDMX นิทรรศการ เช่น การจัดเสวนาหัวข้อ “I live and work in CDMX: Textiles and fashion in Mexico” (11 ก.ค.) เสวนาหัวข้อ “I live and work in CDMX: Young Creators” (11 ก.ค.) ที่ CDMX Space นิทรรศการชื่อ “We were modern” (2 มิ.ย. - 2 ก.ย.) ที่ Museum of Modern Art เป็นต้น
นอกจากสถาบันการศึกษาแล้ว หน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมอันรวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชนร่วมกันจัดนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบและความสำคัญของการออกแบบ นำโดยพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของเม็กซิโก ซิตี้ ได้แก่ Tamayo Museum/ Museum of Contemporary Art (MAM)/ University Museum of Science and Art (MUCA) Roma and MUCA Campus/ Chopo University Museum/ National Museum of Anthropology และ Mexico City Museum โดยพิพิธภัณฑ์ MUCA Roma จัดนิทรรศการ “I Will What I Want: Women, Design and Empowerment” เกี่ยวกับบทบาทอันซับซ้อนและขัดแย้งของงานออกแบบต่อการได้มาซึ่งความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งนิทรรศการได้จบลงเมื่อ 22 เม.ษ. และนิทรรศการ “Collection of Moments, Design in Mexico, 1999 - 2015” ที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยโชโป (Chopo University Museum) รวบรวมผลงานการออกแบบเม็กซิกันร่วมสมัยมากกว่า 100 ชิ้นโดย 40 นักออกแบบทั้งเดี่ยวและกลุ่ม เพื่อแสดงตัวตนของงานแบบเม็กซิโกตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา นิทรรศการนี้สิ้นสุดลงเมื่อ 13 พ.ค.
กิจกรรมอื่น ๆ ที่เม็กซิโก ซิตี้จัดร่วมกับ World Design Organization ได้แก่ World Design Experience (16-29 เม.ษ.) การประชุม World Design Capital Network of Cities (เม.ษ.) และการสัมมนา World Design Capital International Design Week (10-14 ต.ค.)
ความตื่นตัวของไทยต่อ World Design Capital
สำหรับประเทศไทยของเรา มีการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น World Design Capital ในปี 2022 โดยมีการจัด Bangkok Design Week 2018 หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2561” เมื่อวันที่ 27 ม.ค. - 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ในกรุงเทพมหานคร 5 พื้นที่ อันได้แก่ เจริญกรุง คลองสาน วงเวียน 22 พระราม 1 และสุขุมวิท ภายใต้แนวคิด “The New-ist Vibes ออกแบบไปข้างหน้า” เพื่อสะท้อนกรุงเทพฯใน 3 มิติ คือ อยู่ดี (city & living), กินดี (well being & gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (creative business) และสร้างพื้นที่แสดงศักยภาพของกรุงเทพฯ ผ่านการสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรมและพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งมีกิจกรรมภายในงานมากมาย เช่น การจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์และนิทรรศการ กิจกรรมชุมนุมทางความคิดและทอล์ก กิจกรรมพัฒนาย่านสร้างสรรค์ กิจกรรมตลาดสร้างสรรค์ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น นิทรรศการ ‘Waste Side Story Pavilion’ by PTTGC ที่นำพลาสติกมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าที่มีคุณค่า ตลาดปล่อยแสดงที่ ตลาดนัดที่จำหน่ายสินค้าดีไซน์ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงดนตรี และการฉายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ
รูปภาพจาก http://m.bangkokdesignweek.com
การผลักดันให้ไทยเป็น World Design Capital เป็นโอกาสที่ดีให้วงการออกแบบไทยได้พัฒนาฝีมือและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในหลายมิติมากขึ้น และจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าการออกแบบสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ทั้งจากบุคคลในพื้นที่และกลุ่มนักครีเอทีฟต่างชาติ ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของไทยอีกด้านหนึ่งให้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น และแม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Design Capital การตื่นตัวในวงการออกแบบนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของไทยที่จะพัฒนาเป็นสังคมแห่งความคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ต่อไปในอนาคต
********************************************
กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)