หอการค้าสหรัฐฯ ผลักดันนโยบาลดิจิทัลระหว่างประเทศในงาน TecGlobal 2018

หอการค้าสหรัฐฯ ผลักดันนโยบาลดิจิทัลระหว่างประเทศในงาน TecGlobal 2018

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 เม.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 820 view

เมื่อ 10 เม.ย. 2561 หอการค้าสหรัฐฯ จัดงานสัมมนา TecGlobal 2018 เป็นครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน งานสัมมนาฯ เป็นการรวมตัวของภาครัฐและภาคเอกชนจากในสหรัฐฯ และต่างประเทศ กว่า 100 คน เพื่อร่วมสนทนา หาแนวปฏิบัติด้านกฎระเบียบที่เป็นเลิศเพื่อผลักดันนวัตกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมทางเทคโลโนยีที่ดีในตลาดโลก โดยหอการค้าฯ มีแผนจัดงานฯ ทุกปีนับจากนี้

หอการค้าสหรัฐฯ ใช้เวทีดังกล่าวเปิดตัวแถลงการณ์ผลักดันนโยบาลดิจิทัลระหว่างประเทศ (Global Digital Policy Declaration) 10 ข้อ นำเสนอโดยนาย John Murphy รองประธานอาวุโส ด้านนโยบายต่างประเทศ (Senior Vice President for International Policy) จุดประสงค์เพื่อสื่อสารมุมมองและความต้องการของเอกชนสหรัฐฯ ไปยังรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายด้านดิจิทัลทั่วโลกพิจารณานำไปใช้เป็นแนวทางพื้นฐานในการออกนโยบายด้านดิจิทัล ดังนี้

  1. ส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลที่เหมาะสม (Foster appropriate regulatory environments) ควรส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและผู้บริโภค การออกกฎระเบียบ เพื่อกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ควรเคร่งครัดจนเกินไปจนกลายเป็นข้อจำกัด
  2. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างไร้พรมแดน (Commit to cross-border data flows) ความสามารถในการเคลื่อนย้ายข้อมูลอย่างไร้พรมแดนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก เทียบได้กับการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเก็บข้อมูลไว้ที่ประเทศตัวเองเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ประเทศนั้นสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
  3. เปิดรับการแข่งขันระหว่างประเทศและเปิดตลาด (Embrace international competition and open markets) การบังคับให้เอกชนบริหารจัดการหรือเก็บข้อมูลเฉพาะในประเทศของตนเป็นการยับยั้ง การลงทุน ชะลอการเกิดนวัตกรรมและลดทอนประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากผลิตภัณฑ์และการบริการด้านดิจิทัลที่ดีที่สุด
  4. มีนโยบายป้องกันข้อมูลที่เหมาะสม (Get data protection right) การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถละเลยได้ แต่การออกกฎระเบียบเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลแบบเหมารวม (one-size fits-all) เป็นอุปสรรคต่อการใช้ข้อมูลในทางที่ถูกที่ควรและเป็นประโยชน์กับประชาชน ควรสนับสนุนให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจบนพื้นฐานของการให้ข้อมูลและเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ข้อมูลส่วนตัว และกฎระเบียบการปกป้องข้อมูลไม่ควรซับซ้อนและควรสอดคล้องกัน รวมถึงกำหนดผู้กำกับดูแลที่ชัดเจน
  5. ให้ความสำคัญลำดับต้นกับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทางเลือกของผู้บริโภค และหลักธรรมาภิบาล (Prioritize internet access, consumer choice, and good governance) ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ควรขยายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสร้างทางเลือกให้ประชาชนในการใช้แพลตฟอร์มและบริการ ไม่ควรจำกัดทางเลือกการค้าออนไลน์และควรมีมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจสำหรับการซื้อ-ขายทางอินเตอร์เน็ตที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  6. ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Protect intellectual property) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้าและความลับทางการค้า เป็นสิ่งสำคัญที่จะปกป้องธุรกิจที่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้มีศักยภาพทางการแข่งขัน
  7. ยอมรับมาตรฐานสากล (Abide by market-driven international standards) พิจารณาใช้มาตรฐานสากลแทนที่การกำหนดมาตรฐานที่ซับซ้อนมากเกินไปจนทำให้เป็นอุปสรรคทางการค้า
  8. มองความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นมิตร (View cybersecurity as a partnership) นโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ควรเน้นการป้องกันมากกว่าการกำหนดให้รายงานเหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่สร้างความเสียหาย (mandatory incident reporting) มองภาคเอกชนเป็นพันธมิตรในการร่วมมือป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับระบบเศรษฐกิจและประชาชน
  9. ปรับพิธีศุลกากรให้ทันสมัยรับยุคดิจิทัล (Modernize customs for the digital era) ธุรกิจขนาดเล็กและ e-commerce เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยสร้างงาน กระบวนการทางศุลกากรที่ซับซ้อนและล้าสมัยเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ทำให้การขนส่งล่าช้าและต้นทุนเพิ่มขึ้น การปรับเพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำที่ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสินค้า (de minimis) จะสร้างประสิทธิภาพให้กับ supply chain และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ
  10. ขยายความร่วมมือและความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาล (Seek cooperation and accountability among governments) การเชื่อมโยง (connectivity) เป็นหัวใจของการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลควรจับมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการร่วมมือสร้างมาตรฐานและกำหนดจุดยืนความรับผิดชอบร่วมกัน โดยอาจผ่านกรอบเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่ม G7 กลุ่ม G20 APEC OECD รวมถึงการหารือและความตกลงทวิภาคี

ภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าและพันธมิตรกับเอกชนสหรัฐฯ หรือที่กำลังสนใจจะเริ่มเป็นพันธมิตรกัน ในการเตรียมการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับฝ่ายสหรัฐฯ ได้ แถลงการณ์ฯ ฉบับเต็ม สืบค้นได้ที่ https://www.uschamber.com/sites/default/files/final_u.s._chamber_of_commerce_digital_policy_declaration_0.pdf

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ