จากปานามาสู่เดสปาซิโต (Despacito)

จากปานามาสู่เดสปาซิโต (Despacito)

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565

| 1,944 view

        แทบไม่น่าเชื่อว่า 10 คำที่ถูกค้นหามากที่สุดบนเว็บไซต์ Google ภาษาไทย ประจำปี 2017 จะปรากฏคำว่า "ปานามา" เป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยคำนี้ถูกค้นหามากเป็นลำดับที่ 7 เหตุผลที่คำนี้ติดอันดับก็คงจะมาจากเพลงที่ชื่อว่า “ปานามา” ผลงานของดีเจชาวโรมาเนีย Matteo ที่ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว แต่ด้วยกระแสที่มีการอัดคลิปเต้นประกอบเพลงของหมู่วัยรุ่นแถบเอเชีย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟสบุค        อินสตาแกรม รวมไปถึงเมื่อดารา นักร้อง นักแสดงไทยจำนวนมากร่วมเกาะกระแสครั้งนี้ด้วยแล้ว ก็ส่งผลให้เพลงปานามาโด่งดังขึ้นมาได้ในปี 2017 จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ปานามา แดนซ์” ในประเทศไทย จำนวนผู้ชมเพลงปานามาทางเว็บไซต์ Youtube เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านครั้ง เมื่อต้นปี 2017 มาอยู่ที่ 41 ล้านครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2017 ไม่ว่าอะไรจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เพลงนี้ติดตลาดได้ก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าเพลง ๆ นี้ มีส่วนช่วยให้คนไทยรู้จักภูมิภาคลาตินอเมริกามากขึ้น ผ่านชื่อเพลง “ปานามา” นั่นเอง เพราะทุกครั้งที่มีการพิมพ์ค้นหาคำว่า “ปานามา” เป็นภาษาไทยใน Google นอกจากเราจะเห็นมิวสิควิดีโอของเพลงปานามาในลิงก์แรก ๆ แล้ว        หากเลื่อนหน้าการค้นหาลงมาอีกเล็กน้อย ก็จะพบข้อมูลเกี่ยวข้องกับประเทศในลาตินอเมริกาที่มีชื่อว่า “ปานามา” ด้วยเช่นกัน และนี่เป็นตัวอย่างวิธีการทำงานของสื่อในยุคดิจิทัลที่ทำหน้าที่ (อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เปิดประตูให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติ ให้รับรู้เรื่องราวและความเป็นไปของคนอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างแนบเนียนและเป็นธรรมชาติ บทความชิ้นนี้จะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจสื่อบันเทิงในรอบปี 2017 ที่เปรียบเสมือนทูตสันถวไมตรีให้กับภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้สื่อเหล่านี้โด่งดังขึ้นมาได้ในระดับโลก  

       เริ่มต้นที่บทเพลง Despacito ผลงานของ Luis Fonsi นักร้องชาวเปอร์โตริกัน (ชาวเปอร์โตริกันเป็นประชากรของเครือรัฐเปอร์โตริโกที่เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา) ที่มีจังหวะและเนื้อร้องที่ติดหู ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่รู้เนื้อร้องภาษาสเปน แต่เราก็ยังพอจะร้องคลอ ๆ ไปได้บ้าง และยิ่งเมื่อนักร้องระดับโลกอย่าง Justin Bieber มาร่วมร้องด้วยแล้ว จึงทำให้เพลงนี้ดังขึ้นมาได้อย่างไม่ต้องสงสัย มิวสิควิดิโอเพลง Despacito      กลายเป็นวิดิโอที่ถูกเปิดชมมากที่สุดบนเว็บไซต์ Youtube เป็นจำนวนกว่า 4 พันล้านครั้ง นับเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกของปี 2017 ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้ดนตรีแนวลาตินอเมริกาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกดนตรีเพลง Despacito เป็นเพลงที่ถูกจัดอยู่ในประเภทเพลงป๊อป มีลักษณะเป็นเพลงที่ฟังง่าย ๆ มีกลิ่นอายของดนตรีลาตินอเมริกาที่สังเกตได้ชัดเจน คือ จังหวะเพลง Reggaeton ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเพลงจากภูมิภาคนี้ โดย Reggaeton เป็นแนวดนตรีแบบใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 1990 นี้เอง ซึ่งเป็นการผสมผสานของดนตรี Hip Hop และดนตรี Reggae โดย Reggaeton ถือกำเนิดขึ้นในเปอร์โตริโกและแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งก็น่าสนใจว่า ถึงแม้ว่าเปอร์โตริโกจะมีสถานะเป็นเครือรัฐของสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับลาตินอเมริกาอย่างมาก นักร้องที่สร้างชื่อเสียงจาก Reggaeton ในยุคบุกเบิกคือ Daddy Yankee ก็มาจากเปอร์โตริโก นอกจากนี้ก็ยังมีแรปเปอร์ชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา Pitbull ที่ทำดนตรีออกมาให้มีกลิ่นอายของ Reggaeton อยู่เรื่อย ๆ อีกด้วย ลำพังในภูมิภาคลาตินอเมริกา ไล่ตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงอาร์เจนตินาก็เป็นตลาดที่ใหญ่มากแล้วสำหรับดนตรี Reggaeton แต่ด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวลาตินอเมริกาที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (จากการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ในปี 2016 มีประชากรเชื้อสายลาตินอเมริกากว่า 57.5 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 17.8 ของประชากรทั้งหมด) ส่งผลให้ดนตรีแนวนี้ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ ไปด้วย เช่น เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ที่มีผู้อพยพชาวคิวบาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ถือเป็นรัฐที่มีประชากรเชื้อสายลาตินอเมริกาอาศัยอยู่มากด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องง่ายที่วัฒนธรรมการฟังเพลงของชาวลาตินอเมริกาจะแทรกซึมเข้าสู่พื้นที่เหล่านี้ จนกระทั่งสามารถเบียดเข้าไปเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหลักของผู้บริโภคสื่อบันเทิงในสหรัฐฯ เช่น ภาพยนตร์และดนตรี ขณะที่วัฒนธรรมดนตรีของลาตินอเมริกาแผ่ขยายไปในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น กระแสการฟังดนตรีทั่วโลกก็สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ แนวดนตรี EDM (Electronic Dance Music)ที่เน้นจังหวะให้เหมาะกับการเต้น ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ผู้คนจำนวนมากไปชมคอนเสิร์ตของเหล่าดีเจที่ไม่ได้แม้แต่จับไมโครโฟนร้องเพลงแต่อย่างใด พวกเขาไปเพียงเพราะสนุกไปกับจังหวะการผสมผสานเสียงเพลงอันหลากหลายของดนตรีแนว EDM ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ยากของคนฟังทั่วโลกที่จะเปิดรับแนวดนตรี ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานอย่าง Reggaeton แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญน่าจะเป็นพลังการขับเคลื่อนของค่ายเพลงด้วย ที่ต้องทำการตลาดให้ถึงคนฟังอย่างทั่วถึง Luis Fonsi เจ้าของเพลง Despacito เป็นนักร้องสังกัด Universal Music Latin Entertainment ที่เป็นบริษัทลูกของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Universal Music Group (UMG) ต้นสังกัดของศิลปินชื่อก้องโลกอย่าง Lady Gaga และ Maroon 5 เพราะฉะนั้นจึงไม่ยากที่ UMG จะใช้ช่องทางต่าง ๆ ของตนเอง ในการนำเสนอเพลง Despacito ให้ดังไปทั่วโลก

         นอกจากความสำเร็จของ Despacito ในวงการเพลงแล้ว ในวงการภาพยนตร์ก็ถือว่าปี 2017 ยังมีภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวจากภูมิภาคลาตินอเมริกาที่โดดเด่นด้วย ภาพยนตร์เรื่องที่ว่านี้ ได้แก่ Coco (วันอลวน วิญญาณอลเวง) ภาพยนตร์แอนิเมชันจากค่าย Pixar Animation Studios ของ Walt Disney Pictures โดย Coco เป็นเรื่องราวของมิเกล หนุ่มน้อยชาวเม็กซิกันที่มีความฝันอยากจะเป็นนักดนตรีตามรอยศิลปินในดวงใจของเขา แต่ครอบครัวมิเกลกลับทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะขัดขวางเขาสู่เส้นทางฝัน โดยเรื่องราวดำเนินอยู่ในช่วงเทศกาลวันแห่งความตาย หรือ Day of the Death (Día de los Muertos ในภาษาสเปน) ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชาวเม็กซิกันเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้วจะกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อเยี่ยมลูกหลาน เรื่องบานปลายเมื่อมิเกลหลุดเข้าไปสู่โลกของคนตาย จนกลายเป็นเรื่องราวผจญภัยสุดตระการตาของมิเกลในที่สุด Coco ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถรั้งอันดับหนึ่งของภาพยนตร์ทำเงินประจำสัปดาห์ในอเมริกาเหนือถึงสามสัปดาห์ซ้อนในช่วงเดือนธันวาคม 2017 จะว่าไปแล้ว Coco ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Pixar ที่ยกเอาวัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่งมาเป็นฉากหลังของเรื่อง เพราะก่อนหน้านี้ Pixar ได้สร้างเรื่อง Ratatouille ที่อิงกับวัฒนธรรมอาหารของฝรั่งเศสมาแล้ว และในปี 2017 ก็เป็นอีกครั้งที่ Pixar เลือกเล่าเรื่องในลักษณะนี้ แต่ครั้งนี้พวกเขาเลือกประเทศเม็กซิโก หนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในภูมิภาคลาตินอเมริกา ตั้งแต่การเลือกเล่าเรื่องผ่านเทศกาลวันแห่งความตาย บทสนทนาของตัวละครแบบ Spanglish (ชื่อเรียกการพูดภาษาอังกฤษผสมผสานกับภาษาสเปนในประโยคเดียวกัน ซึ่งมาจากการเล่นการผสมคำระหว่าง Spanish กับ English) บทเพลงประกอบภาพยนตร์ตามแบบ Mariachi หรือแม้กระทั่งมุกขำขันเกี่ยวกับครอบครัวของชาวลาตินอเมริกา สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างลงตัวไม่แพ้เนื้อเรื่องหลักของภาพยนตร์เลยด้วยซ้ำ นับว่าเป็นความพยายามที่ยอดเยี่ยมของ Pixar ที่นำเสนอวัฒนธรรมของชาวเม็กซิกันให้เข้าใจง่าย และที่สำคัญสามารถสื่อสารออกมาได้ในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงในภูมิภาคอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นการเผยแพร่ให้คนทั้งโลกได้รับรู้ หนึ่งในปัจจัยที่ Pixar กล้าทำเรื่องที่มีฉากหลังเป็นประเทศเม็กซิโกก็เพราะว่า มีฐานคนดูในประเทศที่ใช้ภาษาสเปนในลาตินอเมริกาอยู่เป็นจำนวนมาก และนอกจากนั้น สหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ Coco สามารถทำเงินได้สูงสุดหลายอาทิตย์ติดต่อกัน ด้วยคงเป็นเพราะมีผู้คนเชื้อสายลาตินอเมริกาไปตั้งรกรากและทำงานจำนวนมาก นอกจากนี้สหรัฐฯ ก็ยังมีที่ตั้งติดกับลาตินอเมริกาด้วย แต่ที่น่าสนใจ คือ Coco ข้ามฝั่งมาดังถึงภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ เช่น ไทย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งก็คงต้องยกความดีความชอบให้แก่ Pixar ที่ทำการบ้านได้อย่างดีเยี่ยม

       ทั้ง Despacito และ Coco ประสบความสำเร็จอย่างมากตามที่ได้บอกเล่าไปแล้วข้างต้น โดยทั้งสองสิ่งมีจุดร่วมคือ เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมลาตินอเมริกาโดยใช้กลไกของหัวหอกสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ ทั้ง Universal Music Group และ Pixar ขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้รู้ดีว่ามีฐานผู้บริโภคที่เคยชินกับวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว ทั้งในลาตินอเมริกาและกลุ่มคนเชื้อสายลาตินอเมริกาในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้น และบริษัทเหล่านี้ก็สามารถจับสัญญาณและรสนิยมของผู้บริโภคในระดับโลกได้อย่างดีไม่แพ้กัน ด้วยปัจจัยทั้งหมดข้างต้นจึงทำให้ Despacito และ Coco ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ในบางกรณีชื่อเสียงก็อาจจะมาแบบไม่ได้ตั้งใจ อย่างเช่น เพลงปานามาที่ดังขึ้นมาในไทยอย่างไม่มีสัญญาณใด ๆ มาก่อน มาถึงตอนนี้คนไทยและคนทั่วโลกคงรู้จักภูมิภาคลาตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้น จึงนับว่าเป็นโอกาสของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่จะใช้ประโยชน์จากกระแส ในการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศตน เพราะจะว่าไปแล้ว ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมในลาตินอเมริกาจะก้าวข้ามพรมแดนค่อนข้างมาก ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีของภูมิภาคนี้ แต่ขณะเดียวกันแต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเองแยกย่อยลงไปอีกมากมาย ดังเช่นที่ปรากฏออกมาในเรื่อง Coco นั่นเอง

       ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ในการเผยแพร่วัฒนธรรมให้กระจายไปได้ทั่วโลก ทั้งสำหรับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและทูตสันถวไมตรี ไทยมีวัตถุดิบชั้นดี คือ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์อันโดดเด่นอยู่แล้ว โจทย์จึงอยู่ที่การตอบให้ได้ว่า ควรจะนำเสนออัตลักษณ์เหล่านั้นในรูปแบบและช่องทางใดให้ตรงใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

       สุดท้ายนี้ หากผู้อ่านท่านใดมีความสนใจและอยากทำความรู้จักกับภูมิภาคลาตินอเมริกามากยิ่งขึ้น สามารถติดตามชมรายการ “Hola Latin America” รายการที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร เกร็ดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ของลาตินอเมริกา มาบอกเล่าในรูปแบบสบาย ๆ จัดโดยกองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ออกอากาศเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยสามารถติดตามได้ทางเฟสบุค Saranrom Radio และเว็บไซต์ saranrom.mfa.go.th ของกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงทางสถานีวิทยุสราญรมย์ AM 1575 ครับ

ที่มารูปภาพ : www.billboard.com 

 

ภูผา สุทธิ

4 มกราคม 2561