การเดินทางเยือนไทยของรองประธานสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา

การเดินทางเยือนไทยของรองประธานสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 678 view

เมื่อวันที่ 18-24 พ.ย. 2560 น.พ. Roman Szumski รองประธานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม (Life Sciences) สภาวิจัยแห่งชาติ (National Research Council) แคนาดา พร้อม น.ส. Lorena Maciel จนท. อาวุโสด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าพบหารือและทำความรู้จักกับบุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้าน วทน. ที่ NRC เคยมีกับไทยเมื่อ 20 ปีก่อน (แต่ยุติไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในแคนาดา ซึ่งมีผลต่อนโยบายการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ)

NRC แคนาดาเป็นสถาบันวิจัยของรัฐบาลกลางแคนาดาที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอุตสาหกรรมและการยกระดับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องของแคนาดา มีความเชี่ยวชาญสูงและมีเครือข่ายที่กว้างขวาง ดังนั้น ไทยจึงได้ใช้โอกาสที่รองประธาน NRC แคนาดาเยือนไทย ประชาสัมพันธ์ให้แคนาดารับทราบถึงศักยภาพของทั้งบุคลากรและหน่วยงานภายในประเทศ เชิญชวนให้แคนาดามาร่วมมือ ลงทุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาที่จะเป็นประโยชน์กับไทย โดยเริ่มจากสาขาที่แคนาดาสนใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือ คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการแข่งขันเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสาขาหลักของนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกด้วย

สาระสำคัญของการเยือนสรุปได้ ดังนี้

1.กำหนดการนัดหมายของคณะ น.พ. Szumski ได้พบหารือกับอดีต รมว.วท. (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์)
รป.วท. รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่งชาติ (สวทน.)
ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประธานกรรมการบริหารเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis สวทน.) ผอ. สถาบันอาหาร (Food Institute อก.) รษก. รอง ผอ. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผอ. สถาบันโภชนาการ ม. มหิดล ผอ. สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม. เกษตรศาสตร์ ผช. ผอ. ด้านเครือข่ายวิจัยนานาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผอ. โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และอธิบดีกรมอเมริกาฯ (กต.)

2.ประเด็นที่ น.พ. Szumski ให้ความสำคัญและผลักดันระหว่างการเยือน และฝ่ายไทยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ได้แก่

-   โครงการของ NRC แคนาดาที่ให้ทุนวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์หญิงของไทย เมื่อ 20 ปีก่อน NRC แคนาดาเคยให้ทุนวิจัยไปทำวิจัยในแคนาดาเป็นเวลา 1 ปี แก่นักวิทยาศาสตร์หญิงของไทยจำนวน 21 คน ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์หญิงกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จและมีบทบาทนำในวงการวิทยาศาสตร์และการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทย ในการนี้ น.พ. Szumski จึงเสนอที่จะจัดการประชุมในลักษณะ Symposium ให้นักวิทยาศาสตร์หญิงกลุ่มนี้ได้เดินทางไปแคนาดา (กรุงออตตาวา) เพื่อแสดงถึงความสำเร็จในระยะยาวที่ยั่งยืนของการให้ทุนวิจัยแก่ต่างประเทศของแคนาดาและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเสริมบทบาทในด้านนี้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและยินดีสนับสนุนเต็มที่

-   โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย เมื่อ 20 ปีก่อน NRC แคนาดา เคยส่งผู้เชี่ยวชาญโครงการ Industrial Research Assistance Program (IRAP) 2 คนมาฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. ในไทยเป็นเวลา 3 ปี เป็นผลให้ไทยจัดตั้งโครงการ Innovation Technology Assistance Program (ITAP) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประสบความสำเร็จมากและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการนี้ น.พ. Szumski จึงสนใจจะต่อยอดความร่วมมือดังกล่าวกับไทยซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและยินดีหารือความร่วมมือ "Phrase 2" ในโอกาสแรก

-   ศักยภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของไทย ปัจจุบัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมมือกับ NRC แคนาดาอย่างไม่เป็นทางการในด้านมาตรวิทยาเคมี (Chemical Metrology) แต่การเยือนไทยของ น.พ. Szumski ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ NRC แคนาดาตระหนักถึงศักยภาพของการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของไทย โดย น.พ. Szumski เห็นว่า วว. มีศักยภาพที่จะสร้างเสริมความร่วมมือกับ NRC แคนาดาได้ในหลายสาขา อาทิ การเพาะพันธุ์และแปรรูปสาหร่าย (พันธุ์ใหม่ แปรรูปเป็นพลังงานชีวภาพ ลดมลภาวะในอากาศ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม) การนำระบบการตรวจสอบและดูแลรางรถไฟของ NRC แคนาดามาปรับใช้กับระบบรางของไทย (ใช้ในรถไฟความเร็วสูงของจีน) รวมถึงการวิจัยและการพัฒนา Agri-Food ร่วมกัน (เพิ่มมูลค่า ถนอมอาหาร สร้างชื่อเสียงของคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโภชนาการในผลิตภัณฑ์) นอกจากนี้ น.พ. Szumski ยังสนใจศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งรวมถึง สวทช. สถาบันโภชนาการ (มหิดล) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (เกษตรศาสตร์) และ Food Innopolis โดยรับจะนำข้อมูลที่ได้รับจากการเยือนครั้งนี้ไปหาช่องทางเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในแคนาดาต่อไป โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงและความร่วมมือระหว่างกัน  ซึ่งรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอว่า อาจเป็นความตกลงระดับกระทรวง เพื่อให้ NRC แคนาดาประสานงานได้กับทุกหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

-  ข้อดีของไทยที่แคนาดารับทราบ ไทยมีทั้งหน่วยงานและบุคลากรด้าน วทน. ที่มีศักยภาพและทักษะสูง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ชื่อเสียงดีด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาค โครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งคมนาคมรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม แรงงานมีฝีมือฝึกอบรมต่อง่าย รัฐบาลสนับสนุนมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติ ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และเครือข่าย (รัฐ-เอกชน-วิชาการ) ทั้งในและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง

3.อื่น ๆ (1) อธิบดีกรมอเมริกาฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน น.พ. Szumski โดยเชิญหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของไทยและแคนาดาที่สามารถนำมาส่งเสริมกันได้ อาทิ การต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว (นักวิทยาศาสตร์หญิง และโปรแกรม ITAP) เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร การแพทย์และสาธารณสุข (รวมอุปกรณ์ทางการแพทย์) และอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีระดับสูง  รวมถึงการเป็นประตูของไทยสู่ตลาดอาเซียน (2) น.พ. Szumski พบหารือกับ ออท. แคนาดาประจำประเทศไทยเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนของ กต. แคนาดา ต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่าง NRC แคนาดากับไทย และ (3) น.พ. Szumski พบหารือผู้อำนวยการด้านการพัฒนาธุรกิจของบริษัท Fabrinetบริษัทสหรัฐฯ ที่ให้ บริการด้านวิศวกรรมและการผลิต (ใยแก้วนำแสง เลเซอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์) ที่มีโรงงานในไทย (1 ใน 4 ฐานการผลิต) และเยี่ยมชมโรงงานและส่วนการผลิตใยแก้วนำแสงของบริษัทด้วย

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ