โอกาส ลู่ทาง ปัญหา และอุปสรรคการค้าการลงทุนในปาปัวนิวกินี

โอกาส ลู่ทาง ปัญหา และอุปสรรคการค้าการลงทุนในปาปัวนิวกินี

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,430 view

            ในอดีตประเทศ “ปาปัวนิวกินี” ซึ่งหลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นดินแดนที่น่ากลัว ลี้ลับ หรือไม่อยากที่จะไปเยือน แต่คุณทราบหรือไม่ว่า ในปัจจุบันดินแดนแห่งนี้มีศักยภาพและโอกาสที่สดใสทางธุรกิจ หรือกล่าวได้ว่าเป็น “ขุมทอง” แห่งการลงทุนของนักลงทุนไทยอีกแห่งหนึ่งก็ว่าได้

             ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะนิวกินี มีขนาดพื้นที่และจำนวน ประชากร (ประมาณ 7.7 ล้านคน) มากที่สุดในบรรดาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก จึงทำให้ปาปัวนิวกินีเป็นทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและตลาดสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนทางธุรกิจเป็นอย่างมาก

     จากเหตุผลดังกล่าว กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ จึงเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพด้านการลงทุนในปาปัวนิวกินี โดยได้เชิญคุณไพบูลย์ เวทย์วัฒนะ ประธานบริษัทวรรณภพ ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทยไปยังปาปัวนิวกีนี  และถือเป็นนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในปาปัวนิวกินี มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางในการลงทุนในปาปัวนิวกินี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญในด้านความท้าทาย ดังนี้  


            ด้านสภาพภูมิประเทศ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ “ที่ดิน” ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่ยังคงไม่มีโฉนดรวมถึงปัญหาการถือครองโฉนดที่ดินปลอม นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะจึงมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งพายุ ดินถล่ม น้ำท่วม แผ่นดินไหว และสึนามิ
            ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งทางบกยังคงขาดการเชื่อมต่อในหลายจุด การเดินทางโดยเครื่องบินและเรือจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่า แต่เที่ยวบินภายในประเทศยังมีความล่าช้า และการขนส่งสินค้าภายในประเทศยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูง หากเปรียบเทียบราคาค่าขนส่งจากไทยไปยังปาปัวนิวกินี ราคาประมาณ 3,500 กีนา (หรือประมาณ 37,000 บาท) แต่หากเป็นการขนส่งสินค้าภายในประเทศราคาค่าขนส่งสินค้าจะสูงถึงประมาณ 9,000 กีนา (หรือประมาณ 96,000 บาท) นอกจากนี้ ระบบการสื่อสารมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และมีปัญหาไฟฟ้าดับทุกวัน และที่สำคัญคือค่าไฟฟ้ามีราคาสูงกว่าไทยถึงร้อยละ 400 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาข้าวสารในปาปัวนิวกินีสูงกว่าราคาข้าวสารในไทย

 

      ด้านข้อกำหนดการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ โรงงานผลิตข้าวจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตและผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยรัฐบาลปาปัวนิวกินี โดยข้าวสารที่จะจำหน่ายภายในประเทศ จะต้องมีส่วนผสมของวิตามินด้วย มิเช่นนั้น จะไม่สามารถจำหน่ายได้

       ด้านค่าแรง ปาปัวนิวกินีได้กำหนดให้แรงงานชาวปาปัวนิวกินีจะต้องได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละประมาณ 28 กีนา (หรือประมาณ 300 บาท) และบริษัทจะต้องบริหารระบบรถรับส่ง รวมถึงจัดหาอาหารกลางวันให้แก่พนักงานด้วย ทั้งนี้ สำหรับชาวต่างชาติ สามารถขอใบอนุญาตทำงานในประเทศได้ประมาณ 6 ถึง 11 เดือน

           แม้ว่าการลงทุนในปาปัวนิวกินี จะยังมีข้อจำกัดเป็นจำนวนมากตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนไทยในการพลิกอุปสรรคปัญหาให้เป็นโอกาสได้ ยกตัวอย่าง เช่น 1) ธุรกิจโรงแรม ผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้ยังมีจำนวนไม่มากนักและค่าเช่าโรงแรมมีราคาสูง จึงเป็นโอกาสที่นักธุรกิจชาวไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงแรมและการบริการ จะสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้ 2) ธุรกิจด้านพลังงาน เนื่องด้วยปาปัวนิวกินีมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะสามารถเข้าไปลงทุนได้ 3) ธุรกิจด้านเหมืองแร่ ปาปัวนิวกินีมีเหมืองแร่ทองคำขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยที่ยังไม่มีการดำเนินธุรกิจด้านนี้มากนัก ปัจจุบันมีนักลงทุนจากจีนได้เข้าไปลงทุนบ้างแล้ว นักลงทุนไทยจึงยังมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจด้านนี้ 4) ธุรกิจด้านการสื่อสาร/โทรคมนาคม ด้วยค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารในปาปัวนิวกินียังคงมีราคาสูงและยังไม่แพร่หลาย จึงเป็นโอกาสอันดีหากนักธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการสื่อสารของประเทศได้ 5) ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่มีธรรมชาติสวยงามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทะเลและชายหาด มีหมู่เกาะจำนวนมาก และที่สำคัญมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั่วโลก

         

            นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในปาปัวนิวกินีที่เห็นได้ชัด คือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับปาปัวนิวกินี  ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายมีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของปาปัวนิวกินีให้ความสนใจต่องานแสดงสินค้าของไทยและช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชาวปาปัวนิวกินีได้เข้าชมและเลือกซื้อสินค้าไทยภายในงาน อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือปาปัวนิวกินีเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  

    
                        โดย นายวนรัตน์  จันทร์เพชร

                                                                                   เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยกลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
                                                                                                                  กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้