ความเป็นไทยที่แทรกในสังคมออสเตรเลีย

ความเป็นไทยที่แทรกในสังคมออสเตรเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,729 view
  ท่านผู้อ่านคงแปลกใจว่า ประเทศออสเตรเลียที่มีประชากรประมาณ 23 ล้านคน และมีพื้นที่ประมาณ 7.69 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่า 15 เท่า และใหญ่เกือบเท่ายุโรปทั้งทวีปนั้น จะมีที่ตรงไหนให้ความเป็นไทยไปแทรกอยู่ได้ และภาพของคนออสเตรเลียในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นฝรั่งผิวขาว ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วความเป็นไทยจะไปแทรกอยู่ในสังคมบ้านเค้าได้ยังไงกัน
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ จำนวนมากครับ ปัจจุบันประชากรเกินครึ่งมีบิดามารดาเกิดในต่างประเทศ และประชากรเกิน 1 ใน 3 ที่ตนเองเกิดในต่างประเทศ แล้วอพยพมาอยู่ออสเตรเลีย ทำให้สังคมออสเตรเลียมีความเป็น “พหุวัฒนธรรม” อย่างสูง ธรรมชาติของสังคมแบบนี้เอง ทำให้ออสเตรเลียเป็นสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงมีความพร้อมจะเรียนรู้วิถีชีวิตของคนชาติอื่น ๆ ด้วย
นักเรียนออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยครับที่พอจบ ม. 6 ปุ๊บ แทนที่จะรีบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทันทีแบบนักเรียนไทย กลับเลือกที่จะหยุดพักผ่อนเพื่อใช้เวลาไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน เพื่อเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้วัฒนธรรมในต่างประเทศก่อน
 แล้วค่อยสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในปีต่อไป 
ความเป็นพหุสังคมและความเปิดใจในการเรียนรู้นี่เองครับ ที่เป็นประตูให้ความเป็นไทยเข้าไปแทรกในสังคมออสเตรเลียได้ไม่ยาก เริ่มจากประตูบานแรกเลยคือเรื่อง “การท่องเที่ยว” ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คนออสเตรเลียนิยมมาเที่ยวเมืองไทยกว่าปีละ 8 แสนคน ลองเอา 15 คูณ  ก็จะได้กว่า 12 ล้านคน แปลว่าคนออสเตรเลียเกือบ ๆ ครึ่งประเทศเคยมาเมืองไทยแล้ว ทำให้คนออสเตรเลียรู้จักเมืองไทย วัฒนธรรมไทย อาหารไทยพอสมควร เรียกได้ว่า ไทยเราเป็นปลายทางยอดนิยมด้านการท่องเที่ยวระดับ Top 3 ของคนออสเตรเลียครับ (ปลายทางอีก 2 แห่งที่ขับเคี่ยวสูสีกันมากับไทยก็คือนิวซีแลนด์ และเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย) โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตนั้น มีไฟลท์บินตรงจากออสเตรเลียรายวันของหลายสายการบินทีเดียวเชียว


การชอบท่องเที่ยวประเทศไทยนี้เอง นำไปสู่ประตูบานที่สองของความนิยมไทยครับ คือเรื่อง “อาหารไทย” นาทีนี้ต้องบอกว่า อาหารไทยในออสเตรเลียเป็นที่นิยมสำหรับคนท้องถิ่นมาก ไม่แพ้อาหารระดับโลกอย่างอาหารญี่ปุ่น จีน หรืออาหารอิตาเลียน ในเมืองใหญ่ๆ มีร้านอาหารไทยเปิดทุกหัวระแหง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำนวนร้าน 7-11 ในเมืองไทย และร้านอาหารไทยส่วนมาก ก็คงความจัดจ้านของรสชาติความเป็นไทยไว้ได้ดี ต่างจากร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ไปเปิดประเทศอื่นๆ ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า อาหารไทยในนครซิดนีย์ของออสเตรเลียนั้น เป็นอาหารไทยที่อร่อยที่สุดนอกประเทศไทยเลยทีเดียว นั่นก็เพราะว่า คนออสเตรเลียเค้ารู้จักความเป็นไทยพอสมควรนี่แหล่ะครับ เค้าถึงรับรสชาติอาหารแบบไทยแท้ๆ ได้ ไม่ต้องไปปรุงแต่งรสชาติ เพิ่มโน่นลดนี่ให้เหมาะกับลิ้นฝรั่งเหมือนร้านอาหารไทยในประเทศอื่น ๆ 
นอกจากการท่องเที่ยวและอาหารแล้ว ประตูสำคัญอีกบานหนึ่งก็คือ “กีฬา” ครับ และกีฬาดังกล่าวก็จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากมวยไทยนั่นเอง คนออสเตรเลียนั้น มีความชอบการออกกำลังกายเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในวันอากาศดีๆ จะเห็นคนออกมาวิ่งกันเต็มเมือง แล่นเรือใบกันเต็มอ่าว ความรักชอบกีฬานี้ ทำให้เค้าสนใจมวยไทย ที่เป็นทั้งการออกกำลังกาย และทักษะการป้องกันตัว ในยิมจำนวนมากของออสเตรเลีย มักมีคลาสมวยไทยให้สมาชิก ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงนิยมเรียนมาก เนื่องจากช่วยเบิร์นไขมันได้อย่างยอดเยี่ยม และนอกจากยิมทั่วไปที่มีคลาสมวยไทยเสริมแล้ว ยิมที่เปิดสอนเฉพาะมวยไทยก็มีจำนวนไม่น้อยครับ มีการแข่งขันมวยไทยกันในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นระยะ ซึ่งการชกกันนั้น ไม่ใช่พอระฆังดังปุ๊บนักมวยจะขึ้นไปชกกันดื้อๆ นะครับ แต่ก่อนการชกนักมวยแต่ละคนต้องมีการไหว้ครูตามแบบแผนมวยไทย และกรรมการก็จะใช้ภาษาไทยบางคำในระหว่างการแข่งขัน  เช่น “ชก” “แยก” เป็นต้น มีการเปิดเสียงแผ่นเพลงปีพาทย์ระหว่างการชกด้วย บรรยากาศไม่ต่างจากเวทีมวยราชดำเนินเลย และพวกนักมวยไทยสัญชาติออสซี่พวกนี้ จำนวนไม่น้อยก็จะมาฝึกมวยที่เมืองไทย และมีความฝันว่าจะได้เข้าร่วมงานไหว้ครูมวยไทยโลกที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งจัดประมาณเดือนมีนาคมของทุกปีมากว่า 13 ปีแล้ว ใครได้มาก็จะภูมิใจ ประหนึ่งว่าความเป็นนักมวยไทยของตนสมบูรณ์แล้ว อะไรประมาณนี้ครับ  
ประตูบานสุดท้ายคือเรื่อง “วัฒนธรรมไทย” ที่คนออสเตรเลียชื่นชมและชื่นชอบมาก จนรับเอาไปแทรกไว้ในสังคมออสเตรเลียได้อย่างกลมกลืน ที่เห็นชัดๆ คือวัดไทย เชื่อมั๊ยครับว่า วัดไทยในออสเตรเลียนั้น มีมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งมีทั้งวัดจากธรรมยุติกนิกายและมหานิกาย ตรงนี้ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระญาณสังวรณ์อดีตสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นผู้ไปเปิดวัดไทยแห่งแรกเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วคือวัดพุทธรังสี ที่เขตสแตนมอร์ ในนครซิดนีย์ จากนั้นมา พุทธศาสนาในออสเตรเลียก็หยั่งรากและเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ ตอนนี้ เวลาแต่ละวัดมีงานประเพณีประจำปี เช่น งานกฐิน ก็จะถือเป็นงานใหญ่ของวัด และต้องปิดถนนบริเวณใกล้ๆ วัดเพื่อเปิดโรงทานให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งฝรั่งที่มีบ้านบริเวณใกล้เคียงนั้น แทนที่จะเดือนร้อนรำคาญที่ถนนแถวบ้านตัวเองเข้าออกไม่ได้ ก็กลับมาร่วมงานในวัด และมาร่วมทานอาหารของโรงทานกันย่างชื่นมื่น หรือเวลาวัดใหญ่อีกแห่งคือวัดพุทธรังสี ที่เขตเมืองลูเมียห์จัดงานสงกรานต์ ก็จะมีคนพม่า ลาว เขมร และฝรั่งออสซี่ มาร่วมงานกันไม่แพ้งานสงกรานต์ในบ้านเราเลย หรือแม้กระทั่งเวลา  สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือ ททท.ของเราจัดงานเทศกาลประจำปี เช่น งานลอยกระทง งานเทศกาลไทย ก็จะกลายเป็นงานประจำปีที่คนท้องถิ่นตั้งหน้าตั้งตารอไปแล้ว
นี่แหล่ะครับ ประตูบานต่าง ๆ ที่เปิดให้ความเป็นไทยเข้าไปแทรกอยู่ในสังคมออสเตรเลียได้อย่างเหนียวแน่นและยาวนาน นในปัจจุบันนครซิดนีย์ได้มี Thai Town อย่างเป็นทางการเป็นแห่งที่สองของโลก ต่อจากนครลอสแองเจลิสของอเมริกา และความนิยมไทยนี้ก็จะมีต่อเนื่องและเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดัอย่างแน่นอน ตราบใดที่คนไทยยังมีรอยยิ้มที่น่ารัก มีความเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเราแต่ละคนเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่ดีครับ

                                 

                             
                                                                                โดย นายจีระศักดิ์  ป้อมสุวรรณ
                                                                                                 นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา)
                                                                                            กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้