การบริหารจัดการน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย

การบริหารจัดการน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,688 view

ภาวะภัยแล้งและอุทกภัยเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งท้าทายสำหรับทุกประเทศ รวมทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริก และมีชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นรัฐที่มีพื้นที่หลากหลากทางภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา บ่อยครั้งที่เราอาจจะเคยได้ยินข่าวภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า และแผ่นดินไหวในรัฐนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในรัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้เราจะมาพูดถึงการบริหารจัดการน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียกัน ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียประสบปัญหาภัยแล้ว ระดับน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินมีปริมาณน้อย และอ่างเก็บน้ำที่สำคัญก็มีปริมาณน้ำเหลือเก็บไว้ต่ำกว่าระดับปกติของฤดูกาล จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในการนำน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ มาใช้

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Water Resources) ตั้งขึ้นมากว่า ๖๐ ปีแล้ว สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซาคราเมนโต้ เมืองหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ และดูแลโครงการน้ำของรัฐ (State Water Projects) จำนวน ๒๙ แห่ง ซึ่งแต่ละโครงการมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป เช่น การบริหารจัดการน้ำท่วม การคุมเขื่อนกั้นน้ำ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำ และการเตรียมความพร้อมในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

วันนี้เราจะพูดถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมและสำหรับภาคการเกษตร สำหรับการบริหารจัดการน้ำท่วม มีมาตรการตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุ การดำเนินการช่วงน้ำท่วม และการฟื้นฟู ในการเตรียมความพร้อมมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำท่วม (Flood Operations Center) ซึ่งเป็นศูนย์ ๒๔ ชั่วโมง มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ของน้ำ มีการเก็บอุปกรณ์ที่จำเป็น (กระสอบทราย แผ่นพลาสติก เสาไม้ และเชือก) กระจายไว้ ๒๕ แห่งทั่วรัฐ มีการฝึกและจำลองสถานการณ์จริง รวมทั้งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และประชาชนจากทุกภาคส่วน ประสานและเจรจาล่วงหน้ากับบริษัทที่ขาย อุปกรณ์ในการรองรับน้ำท่วม ให้ความรู้ประชาชนและสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้ประชาชนซื้อประกันภัยสำหรับน้ำท่วมหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยน้ำท่วมแห่งชาติ (National Flood Insurance Program)

ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ทางการจะจัดตั้งศูนย์บัญชาการ (command center) หรือหน่วยบัญชาการ (command team) หรือศูนย์ปฏิบัติการน้ำท่วม (flood operations center) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งวิศวกรธรณีเทคนิค และนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์ เข้ามาร่วมทำงาน มีการเตรียมอุปกรณ์การสื่อสารครบวงจร มีการบริหารจัดการโดยกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และใช้เทคโนโลยีการทำแผนที่ยุทธศาสตร์ (mapping strategy) ในการสื่อสาร วิเคราะห์สถานการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถรายงานต่อทุกภาคส่วนได้ สำหรับภายหลังเหตุน้ำท่วม จะมีการให้ความช่วยเหลือจากหลายส่วน ทั้งจากรัฐบาลทั้งระดับรัฐและระดับรัฐบาลกลาง การช่วยเหลือจากชุมชนและบุคคล การให้กู้เงิน การรับเงินจากประกันน้ำท่วม เป็นต้น

นอกจากกรณีน้ำท่วมแล้ว ทางการยังจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรด้วย เพราะรัฐแคลิฟอร์เนียมีผลผลิตทางการเกษตรคิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของประเทศทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นข้าว อัลมอนด์ วอลนัต มะนาวเหลือง ลูกเบอร์รี่ ผลอโวคาโด องุ่น และผักกาดแก้ว เป็นต้น จึงมีการชลประทานอย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ คือ (1) การให้น้ำโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง (gravity irrigation) ซึ่งมีต้นทุนและค่าแรงต่ำ แต่บริหารจัดการยาก และอาจมีปัญหาด้านคุณภาพน้ำ (2) การให้น้ำแบบฉีดฝอย (sprinkle irrigation) ซึ่งมีต้นทุนปานกลาง บริหารจัดการง่าย แต่ลมเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระบบ และ (3) การให้น้ำโดยอาศัยแรงดัน (micro irrigation) ซึ่งมีต้นทุนสูง สามารถควบคุมการให้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีปัญหาเรื่องระบบท่อ นอกจากนี้ ยังมีสถานีข้อมูลด้านการบริหารจัดการชลประทาน (California Irrigation Management Information System) ที่มีอุปกรณ์วิจัยพัฒนาตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศ อัตราความชื้นของดินเพื่อคำนวณปริมาณน้ำที่เหมาะสมในการเพาะปลูกอีกด้วย

แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการดีเพียงใด แต่ธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่เหนือการคาดเดา ดังนั้น สิ่งที่พวกเราจะช่วยทำได้คือการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สภาวะอากาศเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด


                                                                                                                     โดย ศิรินธรา อัตถากร
                                                                                                        นักการทูตชำนาญการ(ที่ปรึกษา)
                                                                                               ฝ่ายเศรษฐกิจ สังคม กองอเมริกาเหนือ