มาทำความรู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) กันเถอะ

มาทำความรู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) กันเถอะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 66,707 view

            หลายคนคงเคยได้ยินเวลามีผู้เชี่ยวชาญพูดถึงเรื่องไอทีหรือนวัตกรรม ก็มักจะเอาไปโยงกับซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ว่าแต่ซิลิคอนวัลเลย์อยู่ตรงไหนของสหรัฐอเมริกา และมีบริษัทสำคัญอะไรตั้งอยู่ในพื้นที่บ้าง

            ซิลิคอนวัลเลย์เป็นชื่อเรียกของพื้นที่ทางตอนใต้ของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) หรือเบย์แอเรีย ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเป็นการสนธิระหว่างคำว่า “ซิลิคอน” จากที่เคยเป็นแหล่งบุกเบิกพัฒนาซิลิคอนชิป (silicon chip) ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญเพื่อใช้เก็บข้อมูลหน่วยความจำในระบบคอมพิวเตอร์  กับคำว่า “วัลเลย์” หรือหุบเขา ที่มาจากหุบเขาซานตา คลารา (Santa Clara Valley) ในบริเวณนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของเมืองซานโฮเซ (San Jose) ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองหลวงของซิลิคอนวัลเลย์ 

          บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่บัญญัติคำว่า “ซิลิคอนวัลเลย์” คือ นายดอน โฮเฟลอร์ (Don Hoefler) ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ หลังจากนั้น ได้มีการอ้างอิงคำว่าซิลิคอนวัลเลย์ในบทความชุดภายใต้ชื่อ “Silicon Valley in the USA” ของหนังสือพิมพ์การค้าที่เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2514

 

          ซิลิคอนวัลเลย์มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นแหล่งพัฒนาโทรเลข วิทยุ เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และการทหาร โดย โทรเลขไร้สายจากเรือสู่ชายฝั่ง (ship to shore) ถูกส่งครั้งแรกใน สหรัฐฯ จากเรือรบอเมริกันที่จอดทอดสมอในอ่าวซานฟรานซิสโก เพื่อแจ้งการกลับคืนสู่มาตุภูมิของกองเรือรบหลังจากประสบชัยชนะที่ฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามสเปน – สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2441 ในปัจจุบัน ซิลิคอนวัลเลย์เปรียบได้ว่าเป็นหัวใจด้านไอทีและนวัตกรรมของโลก เป็นแหล่งสร้างงานและรายได้ที่สำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงความเป็นมหาอำนาจของโลก

       มีบริษัทชื่อดังที่มีสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์หลายร้อยบริษัท และมีชื่อเสียงที่เป็นที่คุ้นหูของคนทั่วโลก เช่น  Adobe Systems, Apple Inc., Cisco Systems, Facebook, Google, Hewlett Packard, Intel, SanDisk, Oracle Corporation, Yahoo เป็นต้น ผู้ที่ศึกษาและจบด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเหล่านี้เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและความมั่นคง รายได้และสวัสดิการดี บริษัทพร้อมที่จะทุ่มเต็มที่เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานกับตน บางที ถ้าทำงานดีก็อาจได้สิทธิในการซื้อหุ้นรับปันผลรายปีซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้พนักงานพร้อมที่จะทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ซิลิคอนวัลเลย์ยังถือเป็นพื้นที่เป็นพหุวัฒนธรรมสูงเพราะมีคนต่างชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ในส่วนของเอเชีย มีทั้งจีน อินเดีย ไต้หวัน สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่ทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ จะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา 

       สถาบันการศึกษาก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ผลิตบัณฑิตสนองอุปสงค์ของบริษัทในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยที่สำคัญในบริเวณนั้น ได้แก่ Stanford University, University of California - Berkeley, University of California - Santa Cruz (วิทยาเขตส่วนขยาย ซิลิคอนวัลเลย์) เป็นต้น 

        นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญ คือ นายเฟรดิก เทอร์แมน (Mr. Frederick Terman) อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในช่วงทศวรรษ 1940 – 1950 ที่สนับสนุนให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะเริ่มต้นตั้งบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ ที่สำคัญ เช่น บริษัท Hewlett-Packard, Variant Associates และบริษัทชั้นนำอื่นด้านไอที และยังมีบทบาทผลักดันให้จัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมสแตนฟอร์ด (Stanford Industrial Park) เมื่อปี 2494 เพื่อรองรับทหารสหรัฐฯ จำนวนมากที่กลับมาศึกษาต่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เติบโตต่อไป ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นนิคมวิจัยสแตนฟอร์ด ภายหลัง นายเทอร์แมนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของซิลิคอนวัลเลย์

           ในส่วนของเอเชีย มีหลายประเทศที่มีพื้นที่ที่ได้รับสมญานามว่า ‘Silicon Valley of Asia’ ที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน เมือง Daejon ของเกาหลีใต้ เขตนิคมอุตสาหกรรมเซินเจิ้นในจีน เป็นต้น

           ในส่วนของไทย รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อยกระดับสถานะประเทศเป็นประเทศรายได้สูง สร้างความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยภายนอก และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกภาคของประเทศไทย และได้มีแนวคิดสำคัญหนึ่ง คือ ระเบียงเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับ อาทิ สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง และทางรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยองเพื่อเชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภา และโครงการซิลิคอนวัลเลย์ไทยแลนด์ หรือดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์  บนพื้นที่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย  จำนวน 621 ไร่ที่จังหวัดชลบุรี โดยจัดสรรเป็นการดำเนินการของภาครัฐร้อยละ 30 และภาคเอกชนร้อยละ 70 มีการเชิญบริษัทเอกชนชั้นนำในด้านดิจิทัลของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม อาทิ  บริษัท Facebook, Google, Amazon  รวมถึงสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว Massachusetts Institute of Technology, China Academy of Sciences โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่วางผังเมืองอย่างเป็นระบบ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการคิดค้นสร้างสรรค์วิทยาการนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่  มีกฎหมายที่ชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และตอบโจทย์ความรับผิดชอบต่อสังคม

        คงไม่นานเกินรอที่ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์หรือซิลิคอนวัลเลย์ของไทยจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงานในตำแหน่งงานที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ เสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งชูนโยบายการเป็นประตูสู่อาเซียนในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม

 

**************************              
                                                    
                                                                                                                                            จัดทำโดย
                                                                                                                นางสาวภาวินี จันทร์สำราญ
                                                                                                                         นักการทูตชำนาญการ
                                                                                                                 กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้