ไทย - เบลีซ

ไทย - เบลีซ

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 5,736 view

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

๑. ภาพรวมความสัมพันธ์

ไทยกับเบลีซมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดเนื่องจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ โดยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ (ครบรอบ ๒๕ ปี ในปี ๒๕๖๗)

ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก มีเขตอาณาครอบคลุมเบลีซ และรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงเบลโมแพน ขณะที่รัฐบาลเบลีซเคยเปิดสถานเอกอัครราชทูตเบลีซประจำประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ แต่ได้ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และได้มอบหมายให้นายเดวิด อัลลัน เคิร์ควูด กิบสัน (David Allan Kirkwood Gibson) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งเบลีซประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงเบลโมแพน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗

๒. การเมือง

ไทยกับเบลีซมีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่จำกัดและยังไม่มีการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในระดับพหุภาคีในกรอบองค์การสหประชาชาติและองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์

๓. เศรษฐกิจ

ในปี ๒๕๖๖ ไทยและเบลีซมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม จำนวน ๓.๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ ๓๓.๘๘ จากปี ๒๕๖๕ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเบลีซ จำนวน ๑.๖๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเบลีซ จำนวน ๒.๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า จำนวน ๐.๕๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปเบลีซ ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) ข้าวโพด (๓) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๔) เครื่องนุ่งห่ม และ (๕) เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอื่น ๆ

สินค้านำเข้าของไทยจากเบลีซ ได้แก่ (๑) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (๒) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ (๓) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (๔) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (๕) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

๔. ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับเบลีซมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้ทุนหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ มีชาวเบลีซเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว ๘ คนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สาธารณสุข และความมั่นคงทางอาหาร

๕. ข้อมูลเพิ่มเติม

เบลีซอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษนับตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ โดยได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในปี ๒๕๐๗ และได้รับเอกราชเมื่อปี ๒๕๒๔ ประชาชนชาวเบลีซสามารถพูดภาษาอังกฤษและสเปนได้ โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอเมริกากลางที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ