ไทย - เอกวาดอร์

ไทย - เอกวาดอร์

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 6,641 view

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและเอกวาดอร์มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๓ (ครบรอบ ๔๔ ปี ในปี ๒๕๖๗) มีการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นครั้งคราว ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา เปรู มีเขตอาณาครอบคลุมเอกวาดอร์ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เปิดทำการสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงกีโต ขณะที่ฝ่ายเอกวาดอร์ยังอยู่ระหว่างพิจารณามอบหมายสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์แห่งใหม่ให้มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย หลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำมาเลเซียปิดทำการ รวมทั้งอยู่ระหว่างสรรหากงสุลกิตติมศักดิ์เอกวาดอร์ประจำกรุงเทพมหานครคนใหม่

เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๙ รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ๗.๘ ริกเตอร์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐแก่รัฐบาลเอกวาดอร์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐแก่รัฐบาลเอกวาดอร์เช่นกัน

การเมือง

ไทยและเอกวาดอร์มีกลไกการหารือทางการเมือง (Political Consultations) ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีการประชุมมาแล้ว ๑ ครั้ง โดยฝ่ายเอกวาดอร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ กรุงกีโต เมื่อปี ๒๕๕๙

เศรษฐกิจ

เมื่อปี ๒๕๖๖ เอกวาดอร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ ๗ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ โดยมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๓๑๖.๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๒.๒๔ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเอกวาดอร์ จำนวน ๒๕๙.๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเอกวาดอร์ จำนวน ๕๖.๕๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า จำนวน ๒๐๓.๐๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปเอกวาดอร์ ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (๓) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ (๔) ผลิตภัณฑ์ยาง และ (๕) ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ 

สินค้านำเข้าของไทยจากเอกวาดอร์ ได้แก่ (๑) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (๒) เคมีภัณฑ์ (๓) กาแฟ ชา เครื่องเทศ (๔) พืชสำหรับทำพันธุ์ และ (๕) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ความร่วมมือทางวิชาการ

กระทรวงการต่างประเทศให้ทุนหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) โดยในช่วงปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๖ มีผู้รับทุนชาวเอกวาดอร์เข้าร่วม จำนวน ๖๐ คน ในหลักสูตรเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ

ความร่วมมือพหุภาคี

ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือที่ดีและสนับสนุนซึ่งกันและกันในระดับพหุภาคี ในกรอบความมือต่าง ๆ เช่น สหประชาชาติ เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation: FEALAC) นอกจากนี้ ทั้งไทยและเอกวาดอร์ต่างดำรงตำแหน่งรัฐผู้สังเกตการณ์ (Observer State) ของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) โดยเอกวาดอร์อยู่ระหว่างดำเนินการปรับสถานะเป็นรัฐสมาชิกสมทบ (Associate State) ของกลุ่มฯ