ไทย - อาร์เจนตินา

ไทย - อาร์เจนตินา

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 3,741 view

๑. การเมือง

สาธารณรัฐอาร์เจนตินาเป็นประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยยาวนานที่สุด โดยสถาปนาความสัมพันธ์ฯ เมื่อวันที่ ๒ ก.พ. ๒๔๙๘ (ครบรอบ ๖๙ ปี ในปี ๒๕๖๗) การเยือนระดับสูง ฝ่ายไทย อาทิ (๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอาร์เจนตินาอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๓๙ และ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยเคยเยือนสาธารณรัฐอาร์เจนตินา ๑ ครั้ง เมื่อปี ๒๕๕๓ ส่วนฝ่ายอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอาร์เจนตินาเคยเดินทางเยือนไทย ๒ ครั้ง เมื่อปี ๒๕๐๔ และ ๒๕๔๐ กลไกการหารือทวิภาคี ได้แก่ (๑) การประชุม Political Consultations (PC) และ (๒) การประชุม Bilateral Economic Consultation (BEC) ซึ่งได้จัดประชุมมาแล้วการประชุมละ ๕ ครั้ง โดยการประชุม PC และ BEC ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ ๕) จัดขึ้นแบบ back-to-back เมื่อวันที่ ๒๗ เม.ย. ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม

๒. เศรษฐกิจ

ด้านการค้า ในปี ๒๕๖๖ สาธารณรัฐอาร์เจนตินาเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๓ ของไทยในภูมิภาคฯ และอันดับที่ ๓๔ ของไทยในโลก โดยมีมูลค่าการค้ารวม ๑,๘๗๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประกอบด้วย การส่งออก ๑,๕๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า ๓๓๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้ดุลการค้า ๑,๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยฝ่ายอาร์เจนตินาอยู่ระหว่างผลักดันการเปิดตลาดส่งออกเนื้อวัวและสินค้าเกษตรมายังประเทศไทย ส่วนด้านการลงทุน เครือ NH ของ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ของไทย มีการลงทุนธุรกิจโรงแรมในสาธารณรัฐอาร์เจนตินา ในขณะที่ บจก. ซาเดซ่า ของสาธารณรัฐอาร์เจนตินา มีการลงทุนในอุตสาหกรรมฟอกหนังในไทย

๓. ความร่วมมือทางวิชาการ

ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาร์เจนตินามีการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระยะ ๓ ปี โดยฉบับล่าสุด คือ แผนงานฯ ปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๕ มีการดำเนินโครงการการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรและนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานฯ ปี ๒๕๖๗ - ๒๕๖๙ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือ ๓ สาขา ได้แก่ (๑) Agro-industry (ปศุสัตว์ ดิน ข้าวโพดคั่ว อ้อย ถั่วเหลือง) (๒) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ (๓) สาธารณสุข (เทคโนโลยีชีวภาพ ชีวเภสัชภัณฑ์)

๔. ความร่วมมือด้านการศึกษา

สาธารณรัฐอาร์เจนตินามีผู้เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ (AITC) ของกรมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ ทั้งหมด ๒๗ คน

๕. กรอบพหุภาคี

ไทยกับสาธารณรัฐอาร์เจนตินาสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบสหประชาชาติ อาเซียน G77 องค์การการค้าโลก (WTO) เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation : FEALAC) และองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) และมีจุดยืนร่วมกันในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญเพื่อเรียกร้องให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเปิดตลาดสินค้าและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรลง นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือระหว่าง MERCOSUR กับอาเซียน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ MERCOSUR ทำ FTA กับอาเซียนหรือเฉพาะกับไทย

๖. ความตกลงที่ลงนามแล้ว

รวมทั้งหมด ๑๗ ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือด้าน เศรษฐกิจ การค้า ศุลกากร วิทยาศาสตร์ และวิชาการ การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน วัฒนธรรม พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ การปราบปรามยาเสพติด การยกเว้นการตรวจลงตรา ความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและนิติวิทยาศาสตร์