ไทย - ชิลี

ไทย - ชิลี

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 4,961 view

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและชิลีมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ฉันมิตร และสร้างสรรค์ โดยได้ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๕ (ครบรอบ ๖๒ ปี ในปี ๒๕๖๗) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก ชิลี มีเขตอาณาครอบคลุมชิลี ปานามา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกา ในขณะที่ฝ่ายชิลีมีสถานเอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย รวมถึงสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ชิลีประจำประเทศไทย และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ชิลี ณ จังหวัดภูเก็ต

ในวาระครบรอบ ๖๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ เมื่อปี ๒๕๖๕ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรม อาทิ การออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบ ๖๐ ปีฯ การจัดงานเลี้ยงรับรอง การประกวดและนิทรรศการจัดแสดงภาพวาด และกิจกรรมทางวิชาการ (การถ่ายทอดความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้แก่นักเรียนไทยและการแปลวรรณกรรมชิลี “Selección de Obras” ของกาบริเอลา มิสตรัล (Gabriela Mistral) นักเขียนรางวัลโนเบล เป็นภาษาไทย)

การเมือง

ไทยกับชิลีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันเป็นครั้งคราว โดยล่าสุด นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ (Gabriel Boric Font) ประธานาธิบดีชิลี เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

ทั้งสองประเทศมีการหารือในกรอบกลไกหารือทางการเมือง (Political Consultations: PC) ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๖ เมื่อปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในระดับรัฐสภา โดยฝ่ายไทยได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาระหว่างไทยกับชิลีเมื่อปี ๒๕๔๐ ส่วนฝ่ายชิลีได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาระหว่างชิลีกับไทยเมื่อปี ๒๕๕๓

เศรษฐกิจ

ชิลีเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนโยบายตลาดใหม่ของไทยในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี (Thailand - Chile Free Trade Agreement: TCFTA) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ โดยในปี ๒๕๖๖ อัตราภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการภายใต้ TCFTA ลดเหลือร้อยละ ๐ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย - ชิลี และสภาธุรกิจชิลี - ไทย เป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีการประชุมร่วมกันเป็นระยะ

ในปี ๒๕๖๖ ชิลีเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๔ ของไทยในลาตินอเมริกา ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๑,๑๔๖.๖๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๑๑.๑๓ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปชิลี จำนวน ๔๓๒.๖๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากชิลี จำนวน ๗๑๔.๐๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า จำนวน ๒๘๑.๓๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปชิลี ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๓) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ (๔) ผลิตภัณฑ์ยาง (๕) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

สินค้านำเข้าของไทยจากชิลี ได้แก่ (๑) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ (๒) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (๓) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ (๔) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ (๕) เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา

การลงทุนของบริษัทชิลีในไทยที่สำคัญ คือ บริษัท Magotteaux ภายใต้กลุ่ม Sigdo Koppers (ลูกเหล็ก) ขณะที่ไทยยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในชิลี อย่างไรก็ดี บริษัท Minor International ซึ่งถือหุ้นใหญ่ของโรงแรมในเครือ NH Hotel Group (สเปน) มีสาขาโรงแรมในชิลีด้วย

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยกับชิลีมีความร่วมมือทางวิชาการทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคี ในด้านทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายมีการประชุม Thailand - Chile Technical Cooperation Programme (TCTCP) เป็นกลไกสำคัญในการหารือเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - ชิลี ระยะ ๓ ปี โดยในชั้นนี้ อยู่ระหว่าง จัดทำแผนงานความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ ขณะที่ในด้านไตรภาคี ชิลีเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาฯ ที่ไทยมีความร่วมมือระดับไตรภาคีด้วย (ไทย - ชิลี - อาเซียน) โดยทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกและธุรกิจการเกษตรสำหรับพืชควินัวในไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ และได้ขยายผลไปสู่การดำเนินโครงการฯ ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย นอกจากนี้ ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ กระทรวงการต่างประเทศได้มอบทุนหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) แก่ผู้รับทุนชาวชิลี จำนวน ๓๙ คน

ทั้งนี้ ไทยสนใจเรียนรู้และสานต่อความร่วมมือกับชิลีในสาขาดาราศาสตร์ การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) การส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นสาขาที่ชิลีมีความเชี่ยวชาญ

ความร่วมมือพหุภาคี

ชิลีเป็นมิตรประเทศที่ให้การสนับสนุนไทยด้วยดีในกรอบสหประชาชาติ อีกทั้งไทยและชิลีมีความร่วมมือที่ดีในกรอบเอเปค เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation: FEALAC) และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) ซึ่งชิลีเป็นรัฐสมาชิกและไทยเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ ชิลีเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙ และได้รับสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) ของอาเซียน เป็นประเทศแรกจากภูมิภาคลาตินอเมริกาฯเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒