ไทย - ตรินิแดดและโตเบโก

ไทย - ตรินิแดดและโตเบโก

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 2,131 view

การเมือง

ไทยและสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโกมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ราบรื่น โดยสถาปนาความสัมพันธ์ฯ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๙ (ครบรอบ ๓๘ ปี ในปี ๒๕๖๗) ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันไม่มากนักและยังไม่มีกลไกการหารือทวิภาคีอย่างเป็นทางการระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก ในขณะที่รัฐบาลสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโกมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโกประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีผ่านเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ และองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS)

เศรษฐกิจ

สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโกเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและมั่นคงที่สุดในอนุภูมิภาคแคริบเบียน โดยในปี ๒๕๖๖ สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑ ของไทยในอนุภูมิภาคแคริบเบียน และอันดับที่ ๙ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยมีมูลค่าการค้ารวม ๒๒๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๕๓) ประกอบด้วย การส่งออกจากไทยไปสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก จำนวน ๑๐๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก จำนวน ๑๑๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้า จำนวน ๑๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๓) ผลิตภัณฑ์ยาง (๔) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และ (๕) เม็ดพลาสติก

สินค้านำเข้าหลักจากสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโกมายังไทย ได้แก่ (๑) ก๊าซธรรมชาติ (๒) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (๓) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (๔) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และ (๕) เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา

ความร่วมมือทางวิชาการ

ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบทุนเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) ให้ชาวตรินิแดดและโตเบโก ๘ คน ในสาขาสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร