ไทย - ปานามา

ไทย - ปานามา

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 3,252 view

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยกับปานามามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น โดยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๕ (ครบรอบ ๔๒ ปี ในปี ๒๕๖๗) ฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก ชิลี มีเขตอาณาครอบคลุมปานามา และได้เปิดทำการสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงปานามา ขณะที่ฝ่ายปานามามีสถานเอกอัครราชทูตปานามาประจำประเทศไทยและสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ปานามาประจำกรุงเทพฯ

ในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ปานามา เมื่อปี ๒๕๖๕ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในโอกาสดังกล่าว ได้แก่ งานเลี้ยงรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตปานามาประจำประเทศไทย และการสัมมนาผ่านระบบการประชุมทางไกลเกี่ยวกับการบริหารจัดการคลองปานามา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตปานามาฯ จัดขึ้นร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้จุดแข็งและประสบการณ์ของปานามาในการบริหารจัดการคลองปานามาเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงเป็นครั้งคราว โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนปานามาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๗ เมษายน ๒๕๖๒ และนางอิซาเบล เด เซนต์มาโล เด อัลบาราโด (Isabel de Saint Malo de Alvarado) รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปานามา ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ซึ่งนับเป็นการเยือนของผู้แทนระดับสูงจากปานามาครั้งแรกนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

การเมือง

ไทยและปานามามีกลไกหารือทวิภาคี (Bilateral Consultations) ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่ายปานามาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๖๑

เศรษฐกิจ

ปานามาเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตลาดใหม่ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อสูงและตอบรับสินค้าจากประเทศไทยด้วยดี อีกทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของปานามาที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญ จึงเป็นโอกาสของไทยที่สามารถใช้ปานามาเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าของไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าวได้อีกด้วย

ในปี ๒๕๖๖ ปานามาเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๕๑๖.๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๙.๗๖ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกไปยังปานามา จำนวน ๑๗๒.๔๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากปานามา จำนวน ๓๔๔.๔๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลทางการค้า จำนวน ๑๗๒.๐๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปปานามา ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๓) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๔) ผลิตภัณฑ์ยาง (๕) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ในขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากปานามา ได้แก่ (๑) เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ (๒) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (๓) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (๔) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (๕) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและปานามามีระดับการพัฒนาประเทศที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถเป็นหุ้นส่วนในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญและเป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ระบบจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การเกษตร การท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์ของคลองปานามาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและระบบโลจิสติกส์ของปานามา

กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ฝ่ายปานามาผ่านการให้ทุนฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) โดยระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ มีชาวปานามาได้รับทุน AITC จำนวน ๓๓ ราย